รายการถ่ายทอดสด



เทปบันทึกรายการ : ผ่านทาง YouTube

ข่าวเด่น ในรอบ 7 วัน

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ภัยแล้ง- ลงแขกทอดแหแหล่งน้ำแห่งสุดท้ายคลองข้าวตอก


พิจิตรแล้งจัด เซียนแห  ทอดแหบริเวณหน้าฝายน้ำล้นคลองข้าวตอก สร้างรายได้ให้กับชุมชน ประชาชนมีปลาบริโภคและจำหน่ายสร้างรายได้



ประชาชนผู้ที่มีความชำนาญในการหาปลาด้วยการใช้แห หรือที่เรียกว่า เซียนแห จำนวนกว่า 300 คน รวมตัวกันเพื่อทอดแห บริเวณหน้าฝายน้ำล้น คลองข้าวตอก หมู่ 4 ตำบลดงกลาง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นจุดที่ยังมีน้ำเหลือขังอยู่และเป็นจุดที่สงวนไว้ของหมู่บ้านในการรักษาพันธุ์ปลา เพื่อรักษาผลประโยชน์ในการหาปลาไว้บริโภคในหมู่บ้าน เปิดให้เซียนแหเข้ามาทอดแห เพื่อหารายได้เข้าหมู่บ้าน โดยตลอดระยะทาง 900 เมตร ของคลองข้าวตอกที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ระดับน้ำเหลือเพียงเมตรเศษ  เซียนแหต่างจับจองพื้นที่ตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านกำหนดให้เพื่อทอดแหหาปลา ซึ่งแต่ละคนก็สามารถทอดแหได้ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่หลายชนิด เช่น ปลาสวาย ปลาชะโด ปลาช่อน ขนาดใหญ่ตัวละ 5-10 กิโลกรัม นำไปบริโภคและจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ ในช่วงที่ไม่สามารถหาปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปได้ เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งจนหมด



สำหรับการเปิดให้เซียนแหได้เข้ามาทอดแหบริเวณคลองข้าวตอก เป็นการบริหารจัดการของชุมชน ที่รักษาน้ำ รักษาพันธุ์สัตว์น้ำ จนสามารถสร้างรายได้ให้กับหมู่บ้าน เนื่องจากการเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาทอดแห  เพื่อจับปลาขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในลำคลอง เป็นการควบคุมปริมาณปลาให้พอดีกับขนาดของลำคลอง รวมถึงกำจัดปลาชะโด ซึ่งเป็นศัตรูตัวสำคัญของปลาน้ำจืด ประชาชนที่มาทอดแหเพื่อจับปลาสร้างรายได้ให้กับชุมชุนปีล่ะกว่า 60,000 บาท อีกด้วย



นายสายันต์  พันทอง กล่าวว่า เดินทางมาจากอำเภอสากเหล็ก เพื่อมาทอดแห เนื่องจากปีนี้หาแหล่งน้ำที่จะทอดแหยาก เพราะแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งจนหมด  เมื่อมีการเปิดให้ทอดแหจึงเดินทางมาเพื่อทอดแห ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง สามารถทอดแหได้ปลาเป็นจำนวนมาก จากการทอดแหเพียงครั้งเดียวทำให้จับปลาขนาดใหญ่ได้ 5-6 ตัว ซึ่งถือว่าโชคดีมาก ปลาที่ได้ก็จะนำไปบริโภค ส่วนที่เหลือก็จะจำหน่ายให้กับเพื่อนบ้านในหมู่บ้านเนื่องจากขณะนี้ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติหายากมาก

เกษตรกรออกรับจ้างขุดบ่อบาดาลใต้ดินเพื่อหารายได้ทดแทน ในช่วงหน้าแล้ง


     จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ เกษตรกรชาวนาบางส่วนที่ออกรับจ้างขุดบ่อบาดาล

     เกษตรกรตำบลวังสำโรง อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร  ที่ว่างเว้นจากการทำนาได้รวมตัวกันออกรับจ้างขุดบ่อบาดาลใต้ดิน ซึ่งเป็นอาชีพที่มี่ความเสี่ยง แต่ก็ต้องยอม เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว สร้างรายได้ 10,000 - 20,000 บาท ต่อบ่อ แล้วแต่ความลึก ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาการขุดประมาณ 3-5 วัน ส่วนรายได้ที่รับมาจะนำมาแบ่งกัน ตามความยากง่ายของหน้าที่แต่ละคน โดยรายได้อย่างต่ำก็จะอยู่วันละ500 - 600 บาท  ในช่วงประสบสถานการณ์ภัยแล้งจะมีคนมาจ้างงานประจำทุกวัน

     เกษตรกรผู้รับจ้างขุดบ่อบาดาล  กล่าวว่า  จากภัยแล้งที่เกิดขึ้น ระดับน้ำใต้ดินลดลง เหลือ 12 เมตร หรือประมาณ 6 วา  ทำให้การขุดบ่อดาลต้องขุดบ่อดินตามน้ำลึกลงไป กว่า 4 วา หรือ ประมาณ 8 เมตร     ทำให้เกิดการจ้างแรงงานขุดบ่อบาล  ซึ่งในช่วงนี้จะมีงานเป็นประจำทุกวัน รายได้จากการรับจ้างต่อหนึ่งคน จะมีรายได้เฉลี่ย วันละ  600 บาท  ซึ่งถือว่าเป็นการหารายได้ทดแทนในการทำการเกษตรไม่ได้ ในช่วงหน้าแล้ง



สตรอว์เบอร์รี่ ที่พิจิตรก็ปลูกได้

เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ได้สำเร็จ ผลใหญ่ สีสวย รสชาติหวาน แม้จะไม่ใช่พื้นที่อากาศหนาว



ที่ไร่จันทร์เจริญ บ้านวังกระโดน อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร พบสวนสตรอว์เบอร์รี่ ซึ่งมีต้นสตรอว์เบอร์รี่จำนวนมาก กำลังออกผลสีแดงสดพร้อมเก็บจำหน่าย โดยสตรอว์เบอร์รี่ทั้งหมดเป็นผลผลิตของคุณสมนรินทร์ จันทร์จาด ที่ทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ซึ่งลองผิด ลองถูกมาหลายครั้งจนประสบความสำเร็จ สตรอว์เบอร์รี่เจริญเติบโต ออกผลดก สีสวย รสชาติหวาน อร่อย ไม่แพ้ทางภาคเหนือที่มีลักษณะอากาศเย็น



โดยได้มีการขยายพันธุ์เพิ่ม ปัจจุบันปลูกไว้กว่า 1,000 ต้น สร้างรายได้งามทั้งการเก็บผลผลิตขายและจำหน่ายไหลลำต้น หรือต้นอ่อนให้กับผู้สนใจ สร้างรายได้งามเดือนล่ะกว่า 10,000 บาท จุดเริ่มต้นจากความชอบจึงทดลองปลูก พบดูแลไม่ยาก ไม่ต้องใช้สารเคมี รดน้ำปริมาณที่เหมาะสม อยู่ในสถานที่โปร่งก็สามารถที่จะออกผลผลิตได้ แม้จะไม่ใช่พื้นที่ภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาและมีสภาพอากาศที่หนาวจัด



คุณสมนรินทร์  จันทร์จาด กล่าวว่า “เป็นคนชอบรับประทานสตรอว์เบอร์รี่ โดยเฉพาะที่สดจากไร่ จึงลองซื้อต้นอ่อนจากไร่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์มาปลูก ช่วงแรกก็ลองผิดลองถูกอยู่พอสมควร จึงพบว่าสตรอว์เบอร์รี่ สามารถที่จะปลูกในพื้นที่พิจิตรได้ เพราะต้นเจริญงอกงามดี ออกผลขนาดใหญ่ สีสด และรสชาติหวานอร่อย การดูแลก็ไม่ยากอย่างที่คิด ไม่ต้องใช้สารเคมี รดน้ำในปริมาณที่เหมาะสม อยู่ในที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท จากนั้น จึงลองขยายพันธุ์เพิ่ม ซึ่งก็สามารถขยายพันธุ์ได้ ปัจจุบันปลูกมาแล้วประมาณ 1 ปี สร้างรายได้ดีทั้งการเก็บผลสด ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 300 บาท ส่วนไหลหรือต้นอ่อน จำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจทั้งในและต่างจังหวัดไหลละ 20 บาท สร้างรายได้งามเดือนล่ะ 8,000 ถึง 10,000 บาท”



สำหรับการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ของเกษตรกรในอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร นับว่าเป็นความสำเร็จที่สามารถปลูกสตรอว์เบอร์รี่ได้ ซึ่งปกติเป็นผลไม้เมืองหนาวที่เกษตรกรจะปลูกในพื้นที่ภูเขาของภาคเหนือซึ่งจะมีอากาศหนาวเย็น แต่สำหรับจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่ม สภาพอากาศไม่หนาวเย็นแต่กลับปลูกสตรอว์เบอร์รี่ได้  ผลผลิตที่ได้ลูกใหญ่ รสชาติอร่อย สีสด จึงเป็นเรื่องที่ดีและเป็นโอกาสของเกษตรกรที่จะสามารถเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ซึ่งเป็นผลไม่ที่มีราคาแพงและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคโดยเฉพาะการรับประทานสดจากไร่



สตรอว์เบอร์รี่ (อังกฤษ: strawberry) เป็นสกุลไม้ดอกในวงศ์กุหลาบ ผลสามารถรับประทานได้ ในอดีตปลูกเป็นพืชคลุมดินให้กับต้นไม้ปลูกเลี้ยงอื่น ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อก็เป็นได้[2] มีมากกว่า 20 สปีชีส์ และมีลูกผสมมากมาย แต่สตรอว์เบอร์รี่ที่นิยมปลูกมากในปัจจุบัน คือ สตรอว์เบอร์รี่สวน (Fragaria × ananassa) ผลของสตรอว์เบอร์รี่ มีรสชาติหลากหลายขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ มีตั้งแต่รสหวานจนถึงเปรี้ยว สตรอเบอร์รี่เป็นผลไม้ทางการค้าที่สำคัญ พื้นที่ซึ่งเหมาะสมเป็นพื้นที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเล 800 เมตร พื้นที่ที่มีอุณหภูมิ 10-25 องศาเซลเซียส (มีอากาศเย็นตลอดปี) เริ่มปลูกในช่วงเดือนปลายสิงหาคม ถึง ปลายตุลาคม เริ่มเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงช่วงเดือนเมษายนของปีถัดไป