รายการถ่ายทอดสด



เทปบันทึกรายการ : ผ่านทาง YouTube

ข่าวเด่น ในรอบ 7 วัน

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วัดราชช้างขวัญ ผุดไอเดียทำลิฟต์ ลอยกระทง



          แม่น้ำน่านที่ลดระดับลงอย่างมาก ทำให้เป็นอุปสรรคในการลอยกระทง ทางวัดราชช้างขวัญ ผุดไอเดีย นำวัสดุก่อสร้างทำลิฟต์ให้กระทง แห่งเดียวของประเทศไทย อำนวยความสะดวก แก่ผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็ก ได้ลอยกระทงบนฝั่ง เพื่อป้องกันอันตรายจากการลงไปลอยริมตลิ่ง


          ประชาชนนำกระทงมาร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทงในปีนี้ แม่น้ำน่านที่บริเวณหน้าวัดราชช้างขวัญ ตำบลปากทาง อำเภอเมืองจังหวัดพิจิตร  ที่ไหลผ่านหน้าวัด ได้ลดลงจนเห็นแนวตลิ่งซึ่งมีความลาดชัน จนเลยขั้นบันไดหน้าวัด ทำให้การนำกระทงลงไปลอยในแม่น้ำยากลำบาก  คณะสงฆ์และกรรมการวัดวัดราชช้างขวัญ จึงได้คิดไอเดียลอยกระทงด้วยลิฟต์  เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาลอยกระทง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเยาวชน ที่ไม่สามารถเดินลงไปลอยริมตลิ่งข้างแม่น้ำน่านได้


          ทางวัดนำอุปกรณ์รางโครงเหล็ก ยาวกว่า 50 เมตร พร้อมลูกรอก และใช้เชือกไนลอนเป็นตัวดึงทุ่นแรง รางเลื่อนตะแกรงวางกระทง  โดยบังคับการขึ้นลงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า พร้อมทั้งได้นำเครื่องขนย้ายปูนจากงานก่อสร้าง มาทำเป็นเครื่องจักรกล ในการนำกระทงลงสู่ลำน้ำน่าน ซึ่งวิธีการลอย ประชาชน ผู้สูงอายุ สามารถนำกระทง จุดเทียน ธูป อธิฐานบูชากระทงต่อพระแม่คงคาอยู่บนตลิ่ง เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วก็นำไปวางที่ตะแกรงลิฟต์  จากนั้น คนที่บังคับจะทำการบังคับอุปกรณ์ให้ตะแกรง พร้อมกระทง ลงไปสู่แม่น้ำน่าน เมื่อถึงพื้นน้ำ กระทงก็จะลอยไปตามน้ำ โดยมีโครงเหล็กบังคับการขึ้นลง แทนการเดินลงไปลอยในแม่น้ำ


          พระคุณเจ้า เจ้าอาวาสวัดราชช้างขวัญ กล่าวว่า สภาพแม่น้ำน่านที่ลดลง ทางวัดและคณะกรรมการ จึงเห็นว่าการลอยกระทง ค่อนข้างลำบาก จึงได้แนวคิดทำลิฟต์เพื่อนำกระทงลอยในน้ำ โดยไม้ต้องเดินลงไปริมตลิ่งใกล้แม่น้ำน่านที่ลดลง ซึ่งเกรงจะเกิดอันตราย แก่ผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็ก จึงได้นำอุปกรณ์จากชาวบ้านและ ทางวัดมาทำการประดิษฐ์ลิฟต์ ซึ่งถือว่าเป็นแห่งเดียวของประเทศที่ใช้ลิฟต์ลอยกระทง



วัดท่าบัวทอง นำรถรางดึงเด็กร่วมลอยกระทง



          วัดท่าบัวทองนำรถรางบริการกลางสระน้ำจำลอง เพื่อดึงเยาวชนร่วมประเพณีลอยกระทงสนุกสนานแบบเด็กๆ และได้ร่วมสืบสานประเพณีไทย

         ที่บริเวณสระน้ำจำลองที่ขุดขึ้นภายในวัดท่าบัวทอง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร เพื่อใช้สำหรับลอยกระทงเนื่องจากปัญหาภัยแล้งจนน้ำในแม่น้ำยมไม่เพียงพอในการจัดงานลอยกระทง คณะกรรมการจัดงานได้นำรถราง ซึ่งเป็นรถรางสำหรับเด็กมาติดตั้งบริเวณกลางสระน้ำเพื่อบริการสำหรับเด็กที่จะมาร่วมงานในประเพณีลอยกระทงที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 และ 26 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเป็นสิ่งดึงดูดใจเด็กๆให้มาร่วมงาน และเป็นสีสันต์ของประเพณีลอยกระทงแบบงานวัดในพื้นที่ชนบทที่จะมีเครื่องเล่น หรือการละเล่นมาจัดในงานเพื่อความสนุกสนาน เป็นโอกาสที่เด็กจะได้ร่วมสนุกสนานแบบเด็กๆ และได้ร่วมสืบสานประเพณีไทยในการลอยกระทง

          สำหรับการนำรถรางซึ่งเป็นเครื่องเล่นเด็กมาให้บริการในงานประเพณีเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากเด็กๆโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทซึ่งไม่มีสวนสนุกให้ได้เล่น เด็กส่วนใหญ่จึงไม่มีโอกาสได้เล่นเครื่องเล่นเหมือนกับเด็กในกรุงเทพมหานครหรือเมืองใหญ่ การได้เล่นเครื่องเล่นในการจัดงานวัด จึงได้รับความนิยมจากเด็กๆที่มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมาได้มีการทดลองเปิดให้บริการรถรางซึ่งก็ได้รับความสนใจจากเด็กที่มาเล่นรถรางเป็นจำนวนมาก




วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

แม่น้ำยมตอนกลางแห้งจนเห็นหาดทราย



          แม่น้ำยมตอนกลาง บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอโพธิ์ประทับช้าง แห้งจนเห็นหาดทรายทั้งที่ยังอยู่ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน

          สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตร แม่น้ำยมบริเวณหลังศาลสมเด็จพระเจ้าเสือ หน้าที่ว่าการอำเภอโพธิ์ประทับช้าง แม่น้ำยมลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แม่น้ำยมแห้งขอดจนเห็นผืนทราย เหลือน้ำเพียงบริเวณที่เป็นบ่อลึกเพียงเล็กน้อย  ทั้งที่บริเวณดังกล่าวเคยมีน้ำปริมาณมากและมีการจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานต่อเนื่อง ปริมาณฝนที่น้อยกว่าทุก

          สำหรับพื้นที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง เป็นพื้นที่ตอนกลางของแม่น้ำยมที่จะรับน้ำจากอำเภอสามง่าม  จะไหลเข้าสู่พื้นที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง และไหลลงสู่ตอนใต้ในพื้นที่อำเภอบึงนารางและอำเภอโพทะเล  จากแม่น้ำยมที่แห้งลงอย่างรวดเร็วแม้จะเพิ่งอยู่ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ส่งผลกระทบทั้งการทำการเกษตร การอุปโภค ของประชาชนทั้งสองฝั่งน้ำที่ส่อเค้าว่าจะรุนแรงกว่าทุกปี


จังหวัดพิจิตรตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจภัยแล้ง


          จังหวัดพิจิตร รับมือภัยแล้ง ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขวิกฤตภัยแล้ง จัดรอบเวรสถานีสูบน้ำแม่น้ำน่าน พร้อมทั้งเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 8 มาตรการ

          นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษฎี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้ประชุมจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง  ระดับจังหวัดปี 2558/59  ซึ่งมีหน่วยงานราชการ นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ชลประทาน เกษตรจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมทั้งวิเคราะห์ ประเมินปัญหาภัยแล้ง รวมถึงเร่งรัดแนวทางการช่วยเหลือ เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำหลัง และคลองสาขา ได้มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง

          คณะกรรมการเฉพาะกิจได้กำหนดแนวทางการใช้น้ำอย่างประหยัด โดยได้ทำการจัดรอบเวรการสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำน่าน ทั้งหมด 35 แห่ง งดสูบน้ำและจัดรอบเวรการสูบน้ำ ซึ่งกำหนดวันคู่และวันคี่  ในการสูบน้ำจากแม่น้ำน่านช่วยเหลือเกษตรกรและรณรงค์ให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมทั้ง ดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนของทางรัฐบาล

          ล่าสุดทางคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ระดับจังหวัดปี 2558/59  เสนอโครงการ ในการแก้ปัญหาภัยแล้งของการสมัครเกษตรกรทั้งในด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ รวม 34,995 ครัวเรือน วงเงินจัดสรร 90 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการอนุมัติโครงการ จากทางรัฐบาล


"ซอไม้ไผ่" อเมซิ่ง สิ่งประดิษฐ์บรรเลงดนตรี



ลุงนักประดิษฐ์ สร้างเครื่องดนตรี โดยการประดิษฐ์ ลองผิดลองถูก มาลงตัวที่ไม่ไผ่ มาทำซอไม้ไผ่ สร้างเสียงดนตรีบรรเลง ที่ไพเราะ ในงานพิธีต่าง ๆ

          เสียงซอ ดนตรีที่บรรเลงเพลงไทยเดิมพร้อมกับการให้จังหวะของเครื่องเสียงจาก ลุงทวี  จันทร์แจ้ง ชาวบ้านตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ที่เล่นบรรเลงขับกล่อมให้ผู้ฟังตามงานพิธีต่างๆ  ซึ่งซอ ของลุงทวี แตกต่างจากซออื่นที่พบเห็นทั่วไปเพราะเป็นซอแบบตั้งพื้น ซึ่งประดิษฐ์มาจากกระบอกไม้ไผ่ ที่ชาวบ้านปลูกไว้ เพื่อนำไม้มาใช้ประโยชน์หลากหลายประเภท ถูกดัดแปลงมาเป็นเครื่องดนตรี ที่สร้างเสียงบรรเลงอย่างไพเราะ



          ลุงทวี จันทร์แจ้ง เล่าว่า "ตนเองเป็นคนชอบเสียงดนตรี โดยเฉพาะเสียงซอ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสียงไพเราะ จากนั้น จึงได้ลองประดิษฐ์ซอขึ้นเองโดยการลองผิดลองถูก นำทั้งไม้สักและไม้ชนิดต่างๆมาลองทำ จึงมาลงตัวที่ไม้ไผ่ หาได้จากบริเวณบ้านมาทำเป็นซอไม้ไผ่แบบตั้งพื้น โดยจะใช้กระบอกไม้ไผ่ มาทำโครงสร้างและนำสายกีต้าร์มาเป็นสาย สร้างเสียงในการโยกคันสีของซอ ผ่านการกดบังคับนิ้วเสียงเหมือนเปียโน สร้างระดับเสียงดนตรีประกอบกับการเข้าจังหวะกลอง ผ่านระบบเครื่องเสียงที่ทำการติดตั้งระหว่างการบรรเลงในงานพิธี ซึ่งราคาต้นทุนในการผลิตถือว่าถูกมาก ไม่ถึง 1 พันบาท"



          สำรับการบรรเลงในแต่ละครั้ง จะเป็นที่แปลกตาจากชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านจะไม่เคยเห็นซอที่ทำจากไม้ไผ่ที่ให้เสียงไพเราะ การบรรเลงในแต่ละงานหากมีใครจ้างจะอยู่ที่ 1,500 บาท ต่องาน แล้วแต่ระยะทาง ใกล้ ไกล  ซึ่งจะมีผู้จ้างมาตลอดทุกวัน สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ขบวนรถอีต๊อกแห่ กฐินสามัคคี


                บรรยากาศประเพณีทอดกฐินเต็มไปด้วยสีสัน ที่จังหวัดพิจิตรจัดขบวนแห่องค์กฐินด้วยรถอีต๊อก สร้างบรรยากาศแบบพื้นบ้านวิถีชีวิตเกษตรกรรมและเพิ่มสีสันของงานประเพณี

                หลังจากออกพรรษามีประเพณีสำคัญของชาวพุทธนั่นคือประเพณีทอดกฐิน เนื่องจากแต่ละวัดหนึ่งปี จะทอดกฐินได้ครั้งเดียว ตามพุทธบัญญัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยที่จังหวัดพิจิตร ขบวนรถอีต๊อก หรือ รถอีโก้งซึ่งชาวพิจิตรเรียกชื่อรถเครื่องมือทางการเกษตรที่ประชาชนในหมู่บ้านนำรถอีต๊อก จำนวน 15 คัน นำมาแห่องค์กฐิน ซึ่งธนาคารออมสิน ภาค 6 ที่ประกอบด้วยธนาคารออมสินทุกสาขาในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท พิจิตร ลพบุรี และจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเจ้าภาพ นำมาทอด ณ วัดย่านยาว  หมู่ที่ 8 ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร



                โดยชาวบ้าน ได้ทำการตกแต่งรถอีต๊อกด้วยสีสันที่สดใส บรรเลงดนตรีด้วยกลองยาวจากผู้สูงอายุในพื้นบ้าน นางรำ และคณะผู้บริหารจากธนาคารออมสินสาขาต่างๆที่ร่วมในขบวนแห่ไปรอบหมู่บ้าน ซึ่งก็สร้างความเป็นกันเองสำหรับชาวบ้านที่นำรถอีต๊อกมารับและสร้างความตื่นเต้นให้กับคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน ที่บางคนเพิ่งขึ้นรถอีแต๊กเป็นครั้งแรก  พร้อมทั้งทำการแห่องค์กฐินรอบพระอุโบสถ จำนวน 3 รอบ ก่อนทำพิธีทอดกฐิน การทอดกฐินในครั้งนี้มียอดรวมรายได้ที่ถวายวัดจำนวน 1,160,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนหกหมื่นบาท)


                นางนิตยา มัชฌิมา ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ภาค 6  กล่าวว่า การทอดกฐินของธนาคารมีประจำทุกปี โดยจะเวียนไปตามจังหวัดต่างๆในพื้นที่  6 จังหวัด ที่ภาค 6 ครอบคลุมอยู่ วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของธนาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และตอบแทนการไว้ใจของประชาชนกับการบริการของธนาคาร การทอดกฐินในแต่ละปีเราจะนำกฐินไปทอดกับวัดในพื้นที่ชนบทที่ขาดแคลน เพื่อนำรายได้จากการทอดกฐินไปใช้ในการทำนุบำรุงพระศาสนา เนื่องจากวัดในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่จะประสบปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์ในการสร้าง หรือซ่อมแซมถาวรวัตถุต่างๆ พร้อมกันนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดี เนื่องจากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของธนาคารแต่ละสาขาจะได้มาพบปะและทำบุญร่วมกันทำให้มีโอกาสเจอะเจอกันและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันอีกด้วย



                พระครูพิธูรธรรมสถิต  เจ้าอาวาสวัดย่านยาว กล่าวว่า บุญกฐินถือว่าเป็นบุญใหญ่ แต่ละวัดจะทอดได้ครั้งเดียว ตามพุทธบัญญัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีหลักธรรมแฝงในการทอดกฐินในคือความหมายของธงกฐิน ซึ่งมี 4 แบบ คือ รูปจระเข้ หมายถึง ความโลภ  ธงรูปตะขาบ หมายถึง ความโกรธ  ธงรูปนางมัจฉา หมายถึง ความหลง และธงรูปเต่า หมายถึง สติ  ส่วนรายได้ที่ได้จากการทอดกฐินของคณะศรัทธาที่นำมาทอดถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะกับวัดในพื้นที่ชนบทที่จะนำไปใช้ในการสร้างถาวรวัตถุที่สำคัญในวัด รายได้ครั้งนี้จะนำไปสบทบทุนในการก่อสร้างศาลาธรรมสังเวช เพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะต่อไป

                สำหรับรถอีต๊อก หรือ รถอีโก้ง ที่ชาวพิจิตรเรียกนั้น เป็นเครื่องมือการเกษตรที่มีความสำคัญเนื่องจากใช้ในการทำนาทำสวน และมีการปรับเปลี่ยนเป็นพาหนะในการสัญจรโดยมีการนำกระบะพ่วงท้าย เพื่อใช้ในการเดินทาง รวมไปถึงบรรทุกสิ่งของต่างๆ ผลผลิตทางการเกษตร การนำรถอีต๊อก หรือรถอีโก้งมาตกแต่งเป็นขบวนแห่องค์กฐิน จึงเป็นการสร้างสีสันแบบพื้นบ้านเป็นการสร้างความประทับใจทั้งประชาชนในพื้นที่และเจ้าภาพที่เดินทางมาร่วมทอดกฐินในครั้งนี้



ภัยแล้ง ชาวนาต้องซ่อมบ่อบาดาลเพื่อใช้น้ำใต้ดิน


สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตรยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่อง

                ชาวนาในพื้นที่ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ลงทุนซ่อมบ่อบาดาลที่ทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี เพื่อใช้ในการสูบน้ำเลี้ยงต้นข้าวที่ปลูกไว้บนพื้นที่ 10 ไร่ ซึ่งกำลังออกรวง และเป็นช่วงที่ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่แล้งจัดยาวนาน ฝนทิ้งช่วงชลประทานหยุดจ่ายน้ำ ทำให้ชาวนาขาดน้ำในการเลี้ยงต้นข้าว ต้องลงทุนซ่อมบ่อบาดาลที่ไม่ใช้งานมากว่า 10 ปีเพื่อใช้สูบน้ำอีกครั้ง

                สำหรับพื้นที่จังหวัดพิจิตร ขณะนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าจะอยู่ในช่วงย่างเข้าสู่ฤดูหนาว แต่จากฝนที่ทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ปริมาณฝนน้อยกว่าทุกปี


แม่น้ำยมแห้งจนเห็นแก่งกลางแม่น้ำ



                แม่น้ำยมส่อเค้าวิกฤติลดระดับลงต่อเนื่องจนเห็นเกาะแก่งกลางแม่น้ำทั้งที่เพิ่งย่างเข้าเดือนพฤศจิกายน

                สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตรส่อเค้าวิกฤติ แม่น้ำยมที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดพิจิตรลดระดับต่อเนื่อง พื้นที่ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม  ระดับน้ำแม่น้ำยมที่ลดลงต่อเนื่องทำให้มองเห็นเกาะแก่งกลางแม่น้ำยม แนวสันหิน ทราย แม่น้ำยมบางจุดน้ำไหลคล้ายกับลำธาร ทั้งที่อยู่ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งทุกปีจะเป็นช่วงฤดูน้ำหลากที่แม่น้ำยมจะมีปริมาณมาก แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงต่อเนื่อง ฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำยมลดลงอย่างรวดเร็วจนใกล้แห้งขอด

                สำหรับแม่น้ำยมที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดพิจิตร ไหลผ่านพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอสามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และอำเภอโพทะเล ความยาว 127 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำขนาดเล็กที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี และจากระดับน้ำแม่น้ำยมที่ลดระดับลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดเกาะแก่งกลางแม่น้ำยม ทั้งที่ยังไม่ถึงฤดูแล้ง ส่อเค้าว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงในปีนี้



วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อดีตพนักงานรถไฟ สวนกระแส ขายก๋วยเตี๋ยว ชามละ 10 บาท


          อดีตพนักงานรถไฟลาออกจากงานสวนกระแสเศรษฐกิจเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือชามละ 10 บาท พร้อมจัดโปรโมชั่น รับประทาน 10 ชาม ฟรี 1 ชาม รับประทาน 30 ชาม ฟรี น้ำอัดลม 1 ลิตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน เกษตรกร และเยาวชนที่มีรายได้น้อย



          ที่บ้านหัวดง ตำบลหัวดง อำเภอเมืองพิจิตร นายธนบูรณ์ ชูดอก อายุ 58 ปี อดีตพนักงานการรถไฟไทย ได้ลาออกจากการเป็นเจ้าหน้าที่รถไฟ เปิดกิจการขาย"ก๋วยเตี๋ยวเรือชาละวัน"บริเวณหน้าบ้านพักอาศัย โดยได้สวนกระแสในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว จำหน่ายก๋วยเตี๋ยวเรือให้กับลูกค้าในราคาชามละ 10 บาท


          โดยทางร้านได้ถูกออกแบบเป็นเพิงร้านค้ามีโต๊ะไว้รองรับประชาชนที่เข้ามารับประทานก๋วยเตี๋ยว จำนวนกว่า 10 โต๊ะ ซึ่งทางร้านจำหน่ายในราคาแบบธรรมดา ชามละ 10 บาท  ส่วนแบบพิเศษจะขายในราคา 20 บาท ซึ่งส่วนผสมของก๋วยเตี๋ยวเรือราคา 10 บาท จะประกอบไปด้วย เส้นก๋วยเตี๋ยว ผัก เนื้อหมูหมัก จำนวน 2 ชิ้น ตับ 1 ชิ้น และลูกชิ้น จำนวน 1 ลูก มีทั้งแบบน้ำตกและแบบแห้ง เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกรับประทาน พร้อมจัดโปรโมชั่น รับประทาน 10 ชาม ฟรี 1 ชาม รับประทาน 30 ชาม ฟรี น้ำอัดลม 1 ลิตร ซึ่งจะมีลูกค้าเข้ามารับประทาน ถึงวันละ 200- 300 ชาม ต่อ 1 วัน



          นายธนบูรณ์ ชูดอก เจ้าของร้าน กล่าวว่า หลังจากที่ตนเองได้ลาออกมาจากการเป็นพนักงานรถไฟ จึง ได้เปิดร้ายก๋วยเตี๋ยวเรือ ได้ระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งในตอนแรกจะขายชามละ 25-30 บาท แต่ช่วงที่เศรษฐกิจ ชะลอตัวจึงสวนกระแสขายชามละ 10 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน หากเด็กๆที่ขอเงินจากผู้ปกครองมา 10 บาท ก็ยังสามารถรับประทานได้ รายได้จาการขายก็จะพออยู่ได้  ลูกค้าส่วนใหญ่จะทานได้ เต็มที่ 4 -5 ชาม


          นางอัพวรรณ น้ำดอกไม้ ลูกค้าที่มาอุดหนุนประจำ บอกว่า มีรสชาติที่อร่อยและราคาถูก สมกับปริมาณก๋วยเตี๋ยว ที่ทางร้านค้าให้ ซึ่งส่วนใหญ่ จะมากินได้ 3-4 ชามเท่านั้น

          สำหรับ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือชาละวัน จะเปิดให้บริการตั้งแต่ 08.00- 17.00 น. ของทุกวัน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ 3-4 คน คอยให้บริการ ในช่วงวันหยุดจะมีประชาชนและเยาวชนเข้ามารับประทานกันจำนวนมาก



เจ้าหน้าที่ทำการยกประตูระบายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้



          เจ้าที่ปิดประตูระบายน้ำเขตติดต่อกับพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกลงสู่แม่น้ำน่านเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง 

          ประตูระบายน้ำคลองวังทอง ในเขตพื้นที่รอยต่ออำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดพิจิตร  ทำการปิดประตูระบายน้ำที่สะสมจากเทือกเขาเนินมะปรางและเทือกเขาวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้มีน้ำสะสมในคลองสาขา จนทำให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลประตูน้ำต้องยกประตูระบายน้ำให้สูงขึ้น ทำการกักเก็บน้ำในคลองและชะลอการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่าน  เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ด้านอื่นๆโดยเฉพาะภาคการเกษตร

          ขณะที่ทางจังหวัดพิจิตรกำชับให้หน่วยงานราชการ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ช่วยกันรณรงค์กำชับประชาชน รวมทั้งเกษตรกรชาวนาให้งดการทำนาปรังและร่วมมือการใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อช่วยปรับความสมดุลของการกักเก็บน้ำไว้ใช้ ในช่วงฤดูหนาวตลอดจนถึงฤดูแล้งให้เพียงพอ



ชาวสวนส้มโอพิจิตร เจาะบ่อบาดาลหาน้ำเลี้ยงสวนส้มโอ



          สถานการณ์ภัยแล้งขาดทำให้ขาดน้ำเลี้ยงสวนส้มโอ ชาวสวนต้องลงทุนกว่า 5 หมื่นบาทเพื่อเจาะบ่อบาดาล


          สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ยังคงส่งผลกระทบชาวสวนส้มโอในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ต้องลงทุนเจาะว่าจ้างผู้รับเหมาเจาะบ่อบาดาลในส้มโอที่เริ่มออกผลจำนวน 4 ไร่ เพื่อนำน้ำขึ้นมาเลี้ยงต้นโอให้มีผลผลิตสมบูรณ์ หลังจากที่สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบกับชาวสวนส้มแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งจนหมด  ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ชาวสวนจึงต้องลงทุนมีค่าเจาะบ่อและอุปกรณ์มูลค่ากว่า 50,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการเจาะบ่อ 1 ลูก


          สำหรับพื้นที่จังหวัดพิจิตร แม้ว่าขณะนี้อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูหนาว แต่จากสถานการณ์ที่แล้งจัดต่อเนื่องในช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับฤดูฝนที่ผ่านมามีปริมาณฝนน้อยกว่าทุกปี ส่งผลให้พื้นที่จังหวัดพิจิตร เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งอีกครั้งตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนซึ่งถือว่าเร็วกว่าทุกปี ส่งผลกระทบทั้งเกษตรกรที่ปลูกข้าวและชาวสวนส้มโอ ซึ่งมีจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดพิจิตร



วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ชาวบ้านลงขันเรี่ยไรเงินเป็นค่าน้ำมันสูบน้ำกักตุนภัยแล้ง



          ชาวบ้านในพื้นที่พิจิตรลงขัน เรี่ยไรเงินเป็นค่าน้ำมัน นำเครื่องสูบน้ำของตนเองเพื่อสูบน้ำกักตุนเก็บในสระกลางหมู่บ้าน เป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งที่มักประสบปัญหาขาดน้ำในการอุปโภคสำหรับ โรงเรียน และประชาชนกว่า 200 หลังคาเรือน

          ที่จังหวัดพิจิตร ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลหนองปล้อง อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ร่วมกันนำรถไถนาของชาวบ้านมาติดตั้งเพื่อสูบน้ำจากคลองสาธารณะที่ไหลผ่านหมู่บ้านเพื่อกักเก็บในสระน้ำกลางหมู่บ้านขนาดเนื้อที่ 18 ไร่ ความลึก 8 เมตร ที่อยู่บริเวณหน้าสนามโรงเรียนหนองจิกเภา เพื่อเป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภค สำหรับโรงเรียน และประชาชนในหมู่ที่ 7 และหมู่บ้านใกล้เคียงทั้งหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 8  ที่มีหลังคาเรือนรวมกว่า 200 หลังคาเรือน ที่จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคในช่วงฤดูแล้ง โดยชาวบ้านจะนำรถไถ ซึ่งเป็นเครื่องมือการเกษตร ท่อสูบน้ำของชาวบ้านมาติดตั้ง ส่วนค่าน้ำมัน ชาวบ้านจะใช้วิธีเรี่ยรายเงินกันแต่ละหลังคาเรือนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันเพื่อสูบน้ำเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

          นายประจวบ อิมสุวรรณ อายุ 73 ปี กล่าวว่า ปีนี้พื้นที่หมู่บ้านประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง ขณะนี้พื้นที่นาข้าวของประชาชนได้รับความเสียหายจากการขาดน้ำ ที่สำคัญน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติมีน้อยมาก ชาวบ้านจึงร่วมกันระดมกำลังทั้งเครื่องมือ และเงินในการที่จะใช้เพื่อซื้อน้ำมันในการสูบน้ำ โดยจะมีการบริจาคเงินจากส่วนราชการและประชาชนในหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้ ทางเทศบาลตำบลหนองปล้องช่วยเหลือน้ำมันดีเซลมาจำนวน 18 ลิตร และชาวบ้านเองก็เรี่ยไรเงินกันในหมู่บ้านเพื่อใช้ในการสูบน้ำจากคลองธรรมชาติที่ไหลผ่านหมู่บ้านเพื่อเก็บกักในสระกลางหมู่บ้านเพื่อใช้ไว้เป็นน้ำสำรองของหมู่บ้านในช่วงฤดูแล้ง ที่มักจะประสบปัญหาภัยแล้งจนแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตประปาหมู่บ้านแห้งจนหมด ก็จะนำน้ำที่เก็บกักไว้ในสระน้ำกลางหมู่บ้านขึ้นมาใช้จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูน้ำหลากอีกครั้ง



ไฟไหม้ วัดกรดงาม เสียหายกว่า 2 ล้านบาท



          เกิดเหตุเพลิงไหม้ หอสวดมนต์ กุฏิ  พระพุทธรูป ขณะพระสงฆ์ไม่อยู่วัด เสียหายทั้งหมด กว่า 2 ล้านบาท เงินทำบุญอีกกว่า 1 แสนบาทวอดไปกับเพลิง พระสงฆ์ในวัดที่มีทั้งหมด 6 รูป เหลือเพียงจีวร สบง อย่างละผืน ต้องอาศัยศาลาการเปรียญเป็นที่พัก

          เมื่อเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2558 เมื่อประมาณ 15.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในวัดกรดงาม หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร โดยเพลิงได้ลุกไหม้บริเวณ หอสวดมนต์ และกุฎิ ที่เป็นไม้เก่า สร้างแบบเรือนไทย และหอระฆัง ที่เป็นไม้เก่าสร้างตั้งแต่ปี 2513 รถดับเพลิงจำนวน 5 คันจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งในอำเภอวชิรบารมี และอำเภอสามง่าม ระดมกำลังช่วยกันดับเพลิง โดยต้องใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงเพลิงจึงสงบ  โดยเบื้องต้นพบความเสียหาย หอสวดมนต์ขนาดใหญ่เสียหายทั้งหลัง กุฏิพระสงฆ์ 4 หลัง 8 ห้อง ถูกไฟไหม้ทั้งหมด หอระฆังถูกไฟไหม้บางส่วน  พระพุทธรูปทั้งเก่า และใหม่  เครื่องใช้ไฟฟ้าและอัฐบริขารของพระสงฆ์ ทั้งผ้าไตรจีวร บาตร ปิ่นโต หนังสือสวดมนต์ เงินทำบุญในช่วงเทศกาลออกพรรษาที่เตรียมไปฝากธนาคารอีกกว่าหนึ่งแสนบาท ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด มูลค่าเบื้องต้นคาดว่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท พระสงฆ์ที่จำพรรษาทั้งหมด 6 รูป เหลือเพียงผ้าสบง จีวร และย่าม เพียงชุดเดียว  ต้องย้ายไปอยู่อาศัยที่ชั้นล่างของศาลาการเปรียญเป็นการชั่วคราว สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร


          นายณรงค์ ปานแย้ม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุพระสงฆ์ไม่อยู่วัด ไฟได้ลุกไหม้กระจายทั่วทั้งบริเวณ โดยเพลิงได้ลุกไหม้อย่างรวดเร็วเพียงไม่นาน กุฏิ หอสวดมนต์ และทรัพย์สินต่างก็เสียหายทั้งหมด แม้ว่าจะมีการระดมรถดับเพลิงมาช่วยกันดับแต่ก็ไม่สามารถรักษาอะไรไว้ได้เนื่องจากทั้งหมดก่อสร้างด้วยไม่เก่า มีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2513



          พระอนุรักษ์ อนุภัทโท พระผู้รับหน้าที่ดูแลวัด กล่าวว่า ไฟลุกไหม้ขณะพระสงฆ์ที่มีทั้งหมด 6 รูปไม่อยู่เนื่องจากไปกิจนิมนต์ในการฌาปนกิจศพที่วัดใกล้เคียง เมื่อกลับมาพบว่าบริเวณหอสวดมนต์และกุฏิไฟไหม้เสียหายทั้งหมด ทั้งนี้รวมถึงทรัพย์สิน พระพุทธรูป และยังมีเงินที่ได้รับบริจาคจากการทำบุญที่เตรียมจะไปฝากธนาคารอีกกว่าหนึ่งแสนบาท


          ขณะที่ พระครูพิศาลธรรมวุฒิ เจ้าคณะอำเภอวชิรบารมี และรักษาการเจ้าอาวาสวัดกรดงาม เดินทางมาเพื่อให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์ในเบื้องต้นโดยเฉพาะเรื่องของเครื่องใช้จำเป็นที่จะใช้ในการจำวัด และรายงานยังพระฑีฆทัสสีมุนีวงค์ เจ้าคณะจังหวัดพิจิตรเพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป



          สำหรับวัดกรดงาม เป็นวัดเก่าประจำหมู่บ้านในพื้นที่ชนบท  เป็นวัดที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนา มีกำหนดจะทอดกฐินในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะสมทบทุนในการก่อสร้างพระอุโบสถที่กำลังเริ่มก่อสร้าง แต่หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้หอสวดมนต์ และกุฏิที่พักสงฆ์จนเสียหายทั้งหมด ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแผนมาเพื่อสร้างหอสวดมนต์ และกุฏิสงฆ์ก่อนเนื่องจากขณะนี้พระสงฆ์ไม่มีที่พักอาศัย


          ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดและเก็บอุปกรณ์ไฟฟ้าไปตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุต่อไป

          ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสิ่งของและกำลังทรัพย์ตามศรัทธา บริจาคโดยตรงได้ที่ วัดกรดงาม
ธนาคารทหารไทย สาขาสามง่าม ชื่อบัญชี วัดกรดงาม เลขที่บัญชี 367-2-34748-5 และ ธ.ก.ส. สาขาวชิรบารมี    ชื่อบัญชี วัดกรดงาม เลขที่บัญชี 020047536181 สอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 093-0469705



หิ่งห้อยหลายหมื่นตัวส่องแสงกลางทุ่งนาที่พิจิตร



          ชาวบ้านตะลึงแห่ชมหึ่งห้อยหลายหมื่นตัว ส่องแสงเรืองรองกลางทุ่งนาร้าง ทั้งที่ไม่มีต้นลำภู และพบหิ่งห้อยเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากพบเมื่อปีที่ผ่านมากว่าแสนตัว คาดเพิ่มขึ้นเรื่อยจนกว่าจะถึงเดือนธันวาคม

          ที่จังหวัดพิจิตร ปรากฏการณ์หิ้งห้อยจำนวนมากหลายหมื่นตัวรวมตัวกันที่ทุ่งนาร้างในพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านโฉง ตำบลดงป่าคำ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร  โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา มีชาวบ้านจำนวนมาก พากันเดินทางไปชมหิ่งห้อย ที่บริเวณหลังบ้านของ นายนิกร วงษ์โพธิ์ อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22/1 หมู่ 2 บ้านโฉง ตำบลดงป่าคำ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ซึ่งเปิดเป็นอู่ซ่อมรถ และด้านหลังบ้านเป็นทุ่งนาร้างที่ถูกน้ำท่วมขัง และมีต้นข้าวขึ้นอยู่ประปราย โดยบริเวณทุ่งนากว้างประมาณ 13 ไร่ ได้มีหิ่งห้อยหลายหมื่นตัว บินวนส่งแสงระยิบระยับ อยู่เหนือต้นข้าว ทั่วบริเวณ เมื่อบวกกับความมืดทำให้มองคล้ายดวงดาวที่กำลังส่งแสงระยิบระยับ ไปทั่วท้องทุ่งนา ซึ่งเป็นภาพที่สวยงามสำหรับผู้ที่เดินทางมาชม



          นายสมคิด  ทองละมูล อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 กล่าวว่า พื้นที่เป็นพื้นที่ของญาติที่ตนเองเช่าเพื่อทำนา ช่วงนี้เป็นช่วงที่หยุดทำนาเนื่องจากเกรงว่าน้ำจะไม่พอ ทำให้นามีพื้นที่รกร้าง มีน้ำขังและมีหญ้าระมานเกิดขึ้น เมื่อกลางเดือนตุลาคมเริ่มมีหิ่งห้อยในแปลงนาแต่ยังไม่มากนัก และเริ่มเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จนมีหลายหมื่นตัวในช่วงนี้ ในแต่ละคืนหิ่งห้อยจะออกมารวมตัวกันจำนวนมากโดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น. ไปจนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. และจากการรวมตัวกันจำนวนมากทำให้มีความสวยงามจากแสงระยิบระยับของดวงไฟในตัวหิ่งห้อยสร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็น

          สำหรับการพบหิ่งห้อยในพื้นที่จังหวัดพิจิตรเริ่มพบจำนวนมากเมื่อปี 2557 ที่บริเวณดังกล่าวจะมีหิ่งห้อยมารวมตัวกันจำนวนมากกว่าแสนตัว ระยะเวลาหิ่งห้อยจะอยู่ประมาณ 2-3 เดือน โดยจะเริ่มเห็นจำนวนมากตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนธันวาคม โดยปีที่ผ่านมาในแต่ละคืนจะมีประชาชนที่สนใจทั้งในจังหวัดพิจิตร และจากทั่วประเทศมาเที่ยวชมเฉลี่ยวันล่ะ 400-500 คน

          ส่วนจุดบริเวณที่ชมหิ่งห้อยได้อย่างใกล้ชิดและสวยงามจะเป็นบริเวณบ้านของนายนิกร ซึ่งเปิดเป็นอู่ซ่อมรถ อยู่บริเวณด้านหลังที่ทำการเทศบาลตำบลดงป่าคำ  ซึ่งเจ้าของบ้านบอกว่า ประชาชนที่สนใจที่จะชมหิ้งห้อยสามารถที่จะเข้ามาชมในบริเวณบ้านของตนได้ วิธีการชมขอให้ความร่วมมือขอให้ชมด้วยความเรียบร้อย อย่าส่งเสียงดัง  ต้องดับไฟทุกดวงให้มืด จึงจะเห็นแสงของหิ่งห้อย ถ้าเปิดไฟดวงใดดวงหนึ่งก็จะไม่เห็น เนื่องจากแสงไฟที่เปิดจะสว่างกว่าแสงของหิ่งห้อย  แต่การถ่ายภาพนั้นจะมองไม่ค่อยเห็นต้องใช้กล้องคุณภาพสูง  และจากการพบหิ่งห้อยจำนวนมากสร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนที่พบเห็นเพราะที่ผ่านมาการชมหิ่งห้อยต้องเดินทางไปดูถึงอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม


          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การถ่ายภาพเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากกล้องทั่วไปไม่สามารถมองเห็นภาพของแสงหิ่งห้อย เหมือนตาของมนุษย์เห็น ต้องใช้กล้องที่มีความสามารถสูงจึงจะมองเห็น โดยได้ทดลองจับหิ่งห้อยมาขังไว้ในแก้วใส เพื่อถ่ายภาพขนาดลำตัว พบว่าขนาดลำตัวใหญ่กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อปิดไฟ มันจะส่งแสงออกมาที่ด้านท้อง แต่เพื่อเปิดไฟแสงจะหายไป และเมื่อถ่ายภาพเสร็จได้ปล่อยให้หิ่งห้อยกลับเข้าฝูงไปเหมือนเดิม


          ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุว่า หิ่งห้อย หรือ ทิ้งถ่วง เป็นแมลงปีกแข็งในวงศ์ Lampyridae ในอันดับ Coleoptera ทั่วทั้งโลกมีหิ่งห้อยประมาณ 2,000 ชนิด คำว่า “หิ่งห้อย” นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้สั้นๆ ว่า แมลงชนิดหนึ่ง มีแสงเรืองๆ ที่ก้น

          ทิ้งถ่วงตัวเต็มวัยเพศผู้มีปีก ส่วนเพศเมียมีทั้งมีปีกและไม่มีปีก ทิ้งถ่วงมีอวัยวะทำแสงอยู่บริเวณส่วนท้องด้านล่าง เพศผู้มีอวัยวะทำแสง 2 ปล้อง เพศเมียมี 1 ปล้อง แต่บางชนิดตัวเต็มวัยเพศเมียมีรูปร่างลักษณะคล้ายหนอน มีอวัยวะทำแสงด้านข้างของลำตัว เกือบทุกปล้องแสงของทิ้งถ่วงเกิดจากปฏิกิริยาของสารลูซิเฟอริน (Luciferin) ที่อยู่ในอวัยวะทำแสงกับออกซิเจน มีเอนไซม์ลูซิเฟอเรส (Luciferase) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา และมีสารอดีโนซีนไตรฟอสเฟต (Adenosine Triphosphate,ATP) เป็นตัวให้พลังงานทำให้เกิดแสง ทิ้งถ่วงกะพริบแสงเพื่อการผสมพันธุ์และสื่อสารซึ่งกันและกัน

          หิ่งห้อย นับว่าเป็นแมลงที่มีคุณลักษณะพิเศษ คือสามารถบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์และสมดุลของธรรมชาติได้ โดยเฉพาะมีคุณสมบัติที่สามารถใช้เป็น “ตัวห้ำ” ในการควบคุมศัตรูพืชตามหลักการทางชีวภาพ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การเกษตรกรรม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตหลักของคนไทย