รายการถ่ายทอดสด



เทปบันทึกรายการ : ผ่านทาง YouTube

ข่าวเด่น ในรอบ 7 วัน

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

พิจิตรเอฟซี ปล่อย 2 ผู้เล่นของทีม



           พิจิตรเอฟซี ปล่อย 2 ผู้เล่นของทีมได้เนื่องจากมีตำแหน่งเล่นที่ซ้ำกัน จึงทำให้จำเป็นต้องปล่อยให้ผู้เล่น มีโอกาสไปหาทีมใหม่

           ความเคลื่อนไหว ของพิจิตร เอฟซี ล่าสุด นายเจนศิลป์ เจริญบวรศักดิ์ ผู้จัดการทีม พิจิตรเอฟซี ได้เปิดเผยว่า ในขณะนี้ เราได้ปล่อยตัว 2 ผู้เล่น คือ เอกภพ แสนสระ และ ณัฐพล พูลทวี ซึ่งไม่ได้อยู่ในแผนของการทำทีมในเลค 2 โดย ผู้เล่นทั้ง 2 คน มีความสามารถดีมาก แต่ด้วยในทีมมีตำแหน่งผู้เล่นที่ซ้ำกัน

           จึงทำให้จำเป็นต้องปล่อยให้ผู้เล่น มีโอกาสไปหาทีมใหม่ ในการเล่นฟุตบอลอาชีพ หากโอกาสหน้าทางสโมสรขาดตำแหน่งที่ทั้ง 2 คนถนัดก็อาจจะมีโอกาสกลับมาร่วมทีมกันได้อีกครั้ง

ชาวนา ปล่อยต้นข้าวนาปียืนต้นตายจากภัยแล้ง



          ชาวนาพิจิตรทิ้งข้าวนาปียืนต้นตายเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ไม่สามารถหาแหล่งน้ำได้

          สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ชาวนาในพื้นที่ตำบลไผ่รอบ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร จำเป็นต้องปล่อยต้นข้าวนาปีที่เริ่มทำการเพาะปลูกอายุ 3 สัปดาห์ พื้นที่กว่า 20  ไร่ ให้ยืนต้นตาย หลังจากที่ชาวนาไม่มีน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวจากฝนที่ทิ้งช่วง ไม่มีแหล่งน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตรและรักษาต้นข้าวที่เพาะปลูกให้ครบอายุเก็บเกี่ยวได้

          สำหรับพื้นที่ตำบลไผ่รอบ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานและเป็นพื้นที่รับน้ำท่วม เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเสี่ยงทำนาปี เนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำหลาก ชาวนาส่วนใหญ่จะเริ่มทำนาก่อนที่น้ำจะท่วม โดยหลังจากที่ฝนทิ้งช่วงชาวนาจำเป็นต้องปล่อยต้นข้าวยืนต้นตาย เนื่องจากไม่มีน้ำเพียงพอในการหล่อเลี้ยงต้นข้าว หากหาแหล่งน้ำก็จะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน


พิจิตรแล้งจัด ฝนตั้งเค้าแต่ไม่ตก ชาวบ้านหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตั้ง "ปลัดขิก" เรียกฝน



          ประชาชนในพื้นที่ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร หันพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการขอฝน โดยช่วยกันนำ "ปลัดขิก" ขนาดใหญ่ ที่ทำขึ้นด้วยไม้ตกแต่งและทาสีแดงสดเพื่อตั้งไว้บริเวณทางแยกตามความเชื่อเพื่อเรียกฝน หลังจากพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน แหล่งน้ำธรรมชาติแห้งจนหมด ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบกับน้ำในการอุปโภคและที่สำคัญคือน้ำในการเกษตร ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดน้ำในการเลี้ยงต้นข้าวที่ลงทุนเพาะปลูก

          สำหรับการทำ "ปลัดขิก" เรียกฝน เป็นไปตามความเชื่อของคนในชุมชนตั้งแต่อดีตที่เชื่อว่าจะสามารถเรียกฝนได้ วิธีการทำ นำไม้เนื้ออ่อนขนาดใหญ่มาตกแต่งเป็นปลัดขิกทาสีด้วยสีแดงสด จากนั้น นำมาตั้งที่ทางแยกที่ชาวบ้านเรียกว่าทางสามแพ่ง วิธีการตั้งจะตั้งให้ชี้ขึ้นฟ้าเป็นการท้าทาย นำพวงมาลัย ดอกไม้มาคล้อง จากนั้นให้พูดและเขียนข้อความว่า ขอฝนเยอะๆ

          นายวิศาล สุขสงวน ชาวบ้านตำบลวังจิก กล่าวว่า "ปีนี้แล้งจัดกว่าทุกปี ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ปีนี้สภาพอากาศแปลกแตกต่างไปจากเดิม ทุกปีระยะนี้ฝนจะตกแล้ว แต่ปีนี้มีเมฆ มีการตั้งเค้าเหมือนฝนจะตก แต่ไม่ยอมตก ส่งผลกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรที่เริ่มเพาะปลูกโดยเฉพาะนาข้าว การนำปลัดขิกมาตั้ง เป็นการทำตามความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา หากฝนแล้งไม่ตกตามฤดูกาลให้นำปลัดขิกมาตั้งที่ทางสามแยกแล้วฝนจะตก ที่ผ่านมาเคยได้ผลแต่ครั้งนี้ไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่"

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ชาวพิจิตร แสดงความยินดี นักกีฬาเปตอง เหรียญทองซีเกมส์



ชาวพิจิตรร่วมแสดงความยินดี "น้องฝ้าย" นันทวัน เฟื่องสนิท นักกีฬาเปตองทีมชาติ 2 เหรียญทองซีเกมส์

          ที่สนามพิจิตร สเตเดี้ยม นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายกสมาคมกีฬาจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยประชาชนชาวพิจิตร ร่วมแสดงความยินดีกับ "น้องฝ้าย" นันทวัน เฟื่องสนิท นักกีฬาเปตองทีมชาติไทย ที่สามารถคว้าเหรียญทองกีฬาเปตองซีเกมส์ 2 เหรียญทอง ประเภทหญิงเดี่ยวและทีมหญิง ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีการมอบช่อดอกไม้และเงินจำนวนสองหมื่นบาท เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับน้องฝ้ายในฐานะที่เป็นนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดพิจิตร

          สำหรับ "น้องฝ้าย" นันทวัน เฟื่องสนิท อายุ 20 ปี เกียรติประวัติ เคยครองแชมป์เอเชียประเภททีม 3 สมัย, แชมป์โลกประเภททีมหญิง , เหรียญทองซีเกมส์ประเภททีมที่ประเทศเมียนมาร์ , รองแชมป์โลกหญิงเดี่ยว ที่ประเทศฝรั่งเศส และล่าสุด 2 เหรียญทองกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่ประเทศสิงคโปร์ ได้แก่ ประเภทหญิงเดี่ยว และประเภททีม


พิจิตร เอฟซี แพ้ พัทยา ยูไนเต็ด 0-1 ประตู


          การแข่งขันฟุตบอลยามาฮ่า ลีกวัน นัดประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2558 ที่พิจิตร สเตเดี้ยม "พญาชาละวัน" พิจิตร เอฟซี ทีมอันดับ 11 ของตาราง เปิดบ้านรับการมาเยือน "โลมามหาภัย" พัทยา ยูไนเต็ด ทีมอันดับ 8 ของตาราง

          เกมส์การแข่งขันเริ่มเวลา 18.00 น. ท่ามกลางกองเชียร์จำนวน 2,850 คน  ครึ่งแรก ทั้งสองทีมเปิดเกมส์ใส่กันอย่างสนุก นาทีที่ 10 พิจิตร เอฟซี ได้ลุ้นจาก อำนาจ รักประเสริฐ ซัดเต็มข้อบอลพุ่งเข้ากรอบ แต่ ณัฐพร พันธุ์ฤทธิ์ โหม่งสกัดออกไปได้

          นาทีที่ 28 พัทยา ยูไนเต็ด ได้ลุ้นจาก นิโคล่า โกเมส ได้โอกาสซัดเต็มข้อ บอลพุ่งข้ามคานไปแบบได้ลุ้น ช่วงทดเวลาครึ่งแรกที่ทดไป 2 นาที พัทยา ยูไนเต็ด ขึ้นนำจากจังหวะที่ทีมได้ลูกเตะมุม อนุวัฒน์ อินยิน เตะมุมเข้าไปในกรอบเขตโทษ และเป็น ลี วอน ยุน ลอยตัวโหม่งบอลเข้าตุงตาข่าย พัทยา ยูไนเต็ด ขึ้นนำ 1-0 ประตู จบครึ่งแรก พัทยา ยูไนเต็ด ขึ้นนำ พิจิตร เอฟซี 1-0 ประตู

          ครึ่งเวลาหลัง ทั้งสองทีมยังคงเปิดเกมส์บุกเข้าใส่กัน นาทีที่ 77 พิจิตร เอฟซี พลาดโอกาสทองจากจังหวะสวนกลับ ป้องเพชร ทองเกล็ด เปิดบอลยาว อำนาจ รักประเสริฐ หลุดเดี่ยวแต่ยิงบอลพุ่งชนเสา พลาดการได้ประตูตีเสมอไปอย่างน่าเสียดาย

          หมดเวลา 90 นาที พัทยา ยูไนเต็ด บุกเอาชนะ พิจิตร เอฟซี ถึงถิ่น 1-0 ประตู เก็บสามแต้มนอกบ้านได้สำเร็จ


วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ภัยแล้ง ต้นอ้อยแล้งตาย




          ต้นอ้อยแห้งเหี่ยวขาดน้ำตายแล้วจำนวนมากหลังฝนที่ทิ้งช่วง ขณะที่เกษตรกรเร่งสูบน้ำใต้ดินแก้ปัญหาภัยแล้งลดการตายของต้นอ้อย

          สถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดพิจิตร เกษตรกรยังได้รับผลกระทบ หลังจากที่ฝนทิ้งช่วงมานานหลายเดือน ทำให้พื้นที่ในตำบลไผ่รอบ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร เกษตรกรที่ปลูกอ้อย  เริ่มได้รับผลกระทบอย่างหนัก ต้นอ้อยที่มีอายุเกือบ 2 เดือน ขาดน้ำมานาน ทำให้แห้งเหี่ยวยืนต้นตายแล้วจำนวนมาก  ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อย ต้องเร่งทำการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาเพื่อหล่อเลี้ยงต้นอ้อยก่อนจะขยายพื้นที่แห้งแล้งมากกว่านี้ 

          สำหรับจังหวัดพิจิตรมี พื้นที่ประสบภัยแล้งและได้ประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้งจำนวนทั้งสิ้น 7 อำเภอ 28 ตำบล 221 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 24.89 ของหมู่บ้านทั้งหมด จำนวน 888 หมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ภัยแล้งดังกล่าวส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 7,689 ครัวเรือน 19,160คน ซึ่งทางจังหวัดพิจิตรได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นท้องที่ประสบภัยดำเนินการแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภค -  บริโภค  ให้กับราษฎรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น


ภัยแล้ง ชาวสวนส้มโอ กักตุนน้ำ ก่อนชลประทานหยุดจ่ายน้ำ


          ชาวสวนส้มโอในพื้นที่จังหวัดพิจิตร กักตุนน้ำจากคลองชลประทาน เพื่อใช้ในการรดสวนส้มโอ หวั่นขาดน้ำจากการหยุดจ่ายน้ำของชลประทาน

          ชาวสวนส้มโอในพื้นที่ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกส้มโอแหล่งใหญ่ของจังหวัดพิจิตร มีพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ เร่งกักตุนน้ำจากคลองชลประทาน โดยการนำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำจากคลองชลประทานเก็บกักในบ่อน้ำภายในสวน เพื่อเก็บไว้ใช้ในการรดสวนส้มโอ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่มีน้ำในการรดต้นส้ม หลังจากที่ชลประทานมีการประกาศเตือนเกษตรกร โดยแจ้งว่าน้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อยจนประสบปัญหาวิกฤติจากภัยแล้ง

 สำหรับการกักตุนน้ำของชาวสวนส้มโอนั้น เนื่องจากพื้นที่สวนส้มโอในเขตตำบลโพธิ์ประทับช้าง ต้องอาศัยน้ำจากคลองชลประทาน และน้ำจากแม่น้ำพิจิตรเก่าเป็นหลัก แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งที่แล้งจัด ส่งผลให้แม่น้ำในแม่น้ำพิจิตรเก่าแห้งขอด ประกอบกับชลประทานมีการหยุดจ่ายน้ำตามรอบเวรของชลประทาน ชาวสวนจึงต้องเร่งทำการกักตุนน้ำเพื่อนำไว้ใช้ในการรดต้นส้มโอในช่วงที่ชลประทานหยุดจ่ายน้ำ


วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แมลงปีกแข็งนับล้านตัว บุกวัด



          แมลงปีกแข็งนับล้านตัว บุกวัดยึดพระอุโบสถเป็นรัง เจ้าหน้าที่เทศบาลฯและกรรมการวัด ต้องใช้รถน้ำฉีดทำความสะอาด เพื่อเตรียมใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา

          แมลงปีกแข็งจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านตัว บุกยึดพระอุโบสถ วัดราษฎร์บูรณะ หมู่ที่ 1 บ้านคลองจระเข้ ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร เป็นที่อยู่อาศัย โดยแมลงปีกแข็งจำนวนมากอาศัยบริเวณรอบพระอุโบสถทั้งลานปูน บันได ประตู หน้าต่าง เต็มไปด้วยแมลงปลีกแข็งจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่ใช้พระอุโบสถในการประกอบพิธีทางศาสนา คณะกรรมการวัดได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เทศบาลตำบลโพธิ์ประทับช้าง ต้องนำรถบรรทุกน้ำเพื่อฉีดพ่นทำความสะอาดทั่วทั้งบริเวณตัวพระอุโบสถและบริเวณพื้นโดยรอบเพื่อไล่แมลงปีกแข็ง รวมทั้งเป็นการทำความสะอาดเพื่อเตรียมใช้ในการประกอบพิธีอุปสมบทที่จะจัดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

          สำหรับแมลงปีกแข็งจำนวนมากที่มาอาศัยพระอุโบสถวัดราษฎร์บูรณะ ได้ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วปัจจุบันคาดว่ามีกว่าหนึ่งล้านตัว สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไม่สามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ การนำรถบรรทุกน้ำเพื่อฉีดพ่นทำความสะอาดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เนื่องจากแมลงปีกแข็งเป็นแมลงที่กำจัดยาก ที่ผ่านมาคณะกรรมการวัดเคยใช้สารเคมีมาฉีดพ่นแต่ไม่เป็นผล




วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สมาคมกีฬาพิจิตร จัดแข่งเทนนิส สร้างแรงจูงใจช่วงซีเกมส์



          สมาคมกีฬาจังหวัดพิจิตร จัดแข่งขันเทนนิสเยาวชน ปลูกฝังรักการออกกำลังกาย สร้างสุขภาพและรักกีฬา ในช่วงกีฬาซีเกมส์

          ที่สนามกีฬากลางจังหวัดพิจิตร นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร สมาคมกีฬาจังหวัดพิจิตร ชมรมกีฬาเทนนิสพิจิตร ร่วมจัดการแข่งขันเทนนิส ประจำ 2558 มีนักกีฬาที่เป็นเยาวชนทั้งในจังหวัดพิจิตร และจังหวัดใกล้เคียง ร่วมเข้าทำการแข่งขัน จำนวน 200 คน

          สำหรับการจัดแข่งขันในครั้งนี้ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนรักการออกกำลังกาย สร้างสุขภาพให้แข็งแรง ห่างไกลจากยาเสพติด ซึ่งการจัดการแข่งขันในครั้งนี้  จัดขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน 2558 ตรงกับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ถือว่าเป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้เยาวชนหันมารักและเล่นกีฬาเทนนิส





ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงเขื่อนใหญ่ลดการระบายน้ำ


          จังหวัดพิจิตร เตรียมแผนรับมือภัยแล้งในเขตชลประทาน หลังเขื่อนใหญ่ลดการระบายน้ำทำการเกษตรลง เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ไม่มีน้ำเข้าเขื่อน พร้อมเตือนชาวนา หากไม่มีฝนตกขอให้เลื่อนการทำนา

          ที่ศาลากลางจังหวัดพิจิตร นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วย ชลประทานพิจิตร  นายอำเภอและหน่วยงานราชการ ร่วมกันวางแผนเตรียมการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในเขตชลประทาน หลังจากปริมาณน้ำในเขื่อนทั้ง 3 เขื่อนตอนบน ลดการระบายน้ำต้นทุนใช้ในการเกษตรลง เพราะมีปริมาณน้ำเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากฝนที่ทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพิ่มขึ้น

          สำนักงานชลประทานพิจิตร ได้รายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 31 เปอร์เซ็นต์ ใช้การเกษตรได้ 4 เปอร์เซ็นต์ ลดการระบายจากเดิม 20 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เหลือเพียง 17 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 38 เปอร์เซ็นต์ ใช้การเกษตรได้ 12 เปอร์เซ็นต์ ลดการระบายจากเดิม 33ล้าน ลูกบาศก์เมตร เหลือ 31 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีเพียง 11 เปอร์เซ็นต์ ระบายออก 3 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากสถานการณ์ฝนที่ทิ้งช่วงลงในขณะนี้และไม่มีน้ำเติมในเขื่อน จะส่งผลให้เขื่อนสามารถระบายน้ำช่วยเกษตรกรได้นั้นเหลือเพียงอีก 20 วัน 

           จังหวัดพิจิตร เตรียมเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชาวนาเลื่อนทำการเพาะปลูกข้าวหากไม่มีฝนตก เพื่อป้องกันการเสียหายจากภัยแล้ง โดยเฉพาะในเขตชลประทานที่มีอยู่ประมาณ 180,000 ไร่ มีเกษตรกรทำนาไปแล้ว 17,000 ไร่เหลือพื้นที่รอทำนา 150,000 ไร่ 




ชาวบ้านไม่เอาฝายยางกั้นแม่น้ำยม



          ประชาชนตำบลไผ่ท่าโพลงความเห็นควรสร้างประตูระบายน้ำหรือเขื่อนขนาดเล็ก แทนฝายยางเพื่อกั้นแม่น้ำยม เชื่อเกิดประโยชน์มากกว่าการสร้างฝายยาง ชี้ที่ผ่านมาฝายยางไม่สร้างประโยชน์ในการกักเก็บน้ำ


          ที่ห้องประชุมภายในองค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ท่าโพ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง  จังหวัดพิจิตร ประชาชนที่เป็นตัวแทนในพื้นที่ตำบลไผ่ท่าโพ ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนประชาชน กว่า 30 คน ได้เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทานที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์ ในกรณีแบบของการสร้างอาคารบังคับน้ำในพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านลำนัง ตำบลไผ่ท่าโพ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง โดยเจ้าหน้าที่ได้แสดงถึงผลดีและผลเสียของอาคารบังคับน้ำ 2 แบบ คือ ฝายยางและประตูระบายน้ำ หรือ ปตร.  และขอความคิดเห็นว่าประชาชนต้องการอาคารบังคับน้ำแบบใด

          หลังการแสดงความเห็น ประชาชนเห็นควรสร้างอาคารบังคับน้ำในลักษณะประตูระบายน้ำคอนกรีต  หรือ ปตร. เนื่องจากเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่าการสร้างเป็นฝายยาง ที่ใช้งานได้ไม่ดีเท่าที่ควรโดยยกตัวอย่าง ฝายยาง 3 แห่ง ที่มีการสร้างในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ในเขตอำเภอโพทะเล 2 แห่ง อำเภอสามง่าม 1 แห่ง ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ได้ และมักเกิดปัญหาการชำรุดเสียหายของตัวเขื่อนที่เป็นยางอยู่เป็นประจำ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ประชาชนจึงเห็นควรให้มีการสร้างเป็นประตูระบายน้ำหรือเขื่อนขนาดเล็ก ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าแม้จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิม ฝายยางจะใช้งบประมาณการก่อสร้าง 1 แห่ง ประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนประตูระบายน้ำจะใช้งบประมาณแห่งละ 500 ล้านบาท  เจ้าหน้าที่จากสำนักงานชลประทานที่ 3 จึงรับเรื่องเพื่อดำเนินการต่อไป



         สำหรับแม่น้ำยม เป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศที่ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ในการกักเก็บน้ำ มีเพียงฝายยางที่กั้นน้ำเพียงไม่กี่แห่ง ที่ผ่านมาเป็นแม่น้ำที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก ส่งผลกระทบกับประชาชนตลอด 2 ฝั่งริมแม่น้ำ มีระยะทาง 127 กิโลเมตร ที่ไหลผ่านพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดพิจิตร เป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี การสร้างประตูระบายน้ำในลักษณะเขื่อนขนาดเล็ก จึงเป็นความหวังของประชาชนที่จะสามารถแก้ปัญหาได้






ภัยแล้ง ชาวนาสูบน้ำ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อนำไปเลี้ยงต้นข้าว


          ชาวนาพิจิตร ต้องสูบทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของต้นข้าว หลังฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน

          สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ชาวนาในพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง ต้องติดเครื่องสูบน้ำในเวลากลางคืนเพิ่มเติมจากการสูบในเวลากลางวัน เพื่อสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาเลี้ยงต้นข้าว เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอดจนหมด ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ส่วนฝนที่ตกลงมาก็มีปริมาณน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการทั้งๆที่ระยะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว ชาวนาจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการสูบน้ำใต้ดินทั้งเวลากลางวันและกลางคืน เพื่อรักษาข้าวที่เพาะปลูกไม่ให้ได้รับความเสียหาย

          นายณรงค์ศักดิ์  ชัยมงคล กล่าวว่า "ทำนาในพื้นที่ 19 ไร่ ตอนนี้อายุข้าวได้เดือนเศษ ประสบปัญหาขาดน้ำที่ใช้เลี้ยงต้นข้าว เนื่องจากแหล่งน้ำแห้งจนหมด ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานหลังจากตกใหญ่เมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ข้าวเริ่มขาดน้ำต้องดิ้นรนหาน้ำด้วยการสูบน้ำใต้ดิน ซึ่งก็ประสบปัญหาบ่อสูบน้ำได้น้อยกว่าปกติเพราะน้ำใต้ดินก็ลดลง ปีนี้แล้งจัดมาก น้ำใต้ดินก็ลดปริมาณลง จากเดิมที่สูบเพียง 2 วันก็พอแต่ปีนี้ต้องสูบถึง 7 วันจึงจะเพียงพอ จึงต้องสูบน้ำทั้งเวลากลางคืนและกลางวัน เพื่อที่จะสูบน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของต้นข้าว ส่งผลให้ต้นทุนการทำนาสูงขึ้นด้วยจากน้ำมันที่ใช้สูบน้ำเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว"



ภัยแล้ง ชาวบ้านขุดสระเพื่อรอน้ำฝนเลี้ยงปลา


          ชาวบ้าน ขุดสระน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้เลี้ยงปลา เนื่องจากเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซากเป็นประจำทุกปี   ชาวบ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร นำเครื่องมือ จอบ เสียม ทำการขุดลอกสระเพื่อเก็บน้ำขนาดความกว้าง ยาว 3 เมตร โดยการใช้จอบ เสียม ขุดลอกดินในบริเวณสระน้ำเก่าที่ตื้นเขิน นำดินขึ้นมาทำแนวดินกั้นน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการเลี้ยงปลา รอจากน้ำฝนเพียงอย่างเดียวเนื่องจากพื้นที่เป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก

          ชาวบ้าน บอกว่า สาเหตุจากที่ต้องขุดสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ เนื่องจากสภาพบ่อตื้นเขิน ไม่สามารถเก็บน้ำได้จึงต้องขุดสระและทำคันกั้นน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำที่รอจากน้ำฝนที่จะตกลงมา ซึ่งหากมีฝนจะมีน้ำเก็บไว้ในสระเพื่อนำไปใช้ปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงปลา ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครอบครัวอีกทางหนึ่ง



วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ชาวนาติดตามทวงน้ำ จากชลประทานหลังน้ำไม่ถึงที่ปลายน้ำ



ชาวนาในพื้นที่ปลายน้ำอำเภอโพทะเล ชุมนุมเรียกร้องชลประทานจัดสรรน้ำสู่พื้นที่ปลายน้ำ

          ชาวนาในตำบลโพทะเล ทะนง บ้านน้อย และ ตำบลท้ายน้ำ อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตรกว่า 100 คน เดินทางเรียกร้องที่สำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดงเศรษฐี เพื่อทวงและติดตามการจัดสรรน้ำ หลังชาวนาในพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่  ไม่ได้รับการจัดสรรน้ำเข้าถึงพื้นที่ตามแผนการส่งน้ำของสำนักงานชลประทาน ที่ผันน้ำเข้าระบบ เพื่อให้เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ชลประทาน รวมจำนวน 2 รอบ รอบละ 14 วัน แต่น้ำที่จัดสรรนั้นไม่ถึงพื้นที่ปลายน้ำ ติดอยู่กับพื้นที่ต้นน้ำ จนไม่สามารถทำนาในฤดูกาลได้


          ชาวนาอำเภอโพทะเล กล่าวว่า ในช่วงฤดูทำนาก็ยังไม่สามารถทำนาได้ เนื่องจากน้ำยังไปไม่ถึง ซึ่งหากน้ำยังไม่ไปถึงในช่วงนี้ การทำนาจะต้องล่าช้าลงไปและต้องเสี่ยงกับน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่นาข้าวเป็นพื้นที่ราบต่ำ วันนี้จึงได้มาทวงถามการจัดสรรน้ำตามสิทธิที่ทางชลประทานจัดสรรน้ำให้

          ส่าสุด นายโฆษิต พึ่งเมือง ผู้อำนวยการ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดงเศรษฐี พร้อมด้วย ทหารกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ประจำจังหวัดพิจิตร เข้าชี้แจงกับเกษตรกรชาวนา พร้อมทั้งทำหนังสือส่งต่อไปยังสำนักงานชลประทานที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก เพื่อขอขยายระยะเวลาการจัดสรรน้ำเพิ่มและยังได้จัดเจ้าหน้าที่ควบคุมการปิดเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาการแย้งน้ำระหว่างชาวนาพื้นที่ต้นน้ำกับปลายน้ำ