ข่าวเด่น ในรอบ 7 วัน
-
พร้อมให้บริการ ธนาคารกรุงไทยเขตพิจิตร ร่วมกับสำนักงานคลังจังหวัดพิจิตร พร้อมให้บริการรับสมัครร้านค้าที่ประสงค์เข้าโครงการ เราชนะ ณ สำนักงานค...
-
ถนนอุโมงค์ต้นสักความยาวกว่า 6 กิโลเมตร ชุ่มชื่นสวยงามฤดูฝน สร้างความประทับใจให้กับผู้สั ญจร และ เป็นแหล่งอนุรักษ์ไม้หายาก...
-
เกษตรกร ชาวสวนมะยงชิดพิจิตร เผยเคล็ดลับ ที่ทำติดต่อกันมา 2-3 ปี ติดหลอดไฟให้กับต้นมะยงชิด จนทำให้มีผลผลิตมาก ออกจำหน่าย ...
-
ผู้ปกครองนำเด็กซึ่งอาศัยอยู่รอบเหมืองทองเข้ารับการตรวจเลือดจำนวนมาก หลังครั้งที่ผ่านมาพบเด็กร้อยละ 70 มีสารโลหะหนักในร่างกายสู...
-
ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตร มะเขือที่ปลูกไว้สร้างรายได้แทนการปลูกข้าวยืนต้นตาย ขณะที่ยอดรวมจังหวัดพิจิตรมีพืชไร่เสียหายแล้วก...
วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558
หลวงพ่อเงิน เนื้อกระดาษ ไปรษณีย์ไทยทำพิธีปลุกเสกแสตมป์เพื่อความเป็นสิริมงคล
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดพิธีปลุกเสกแสตมป์ ชุดหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร เพื่อความเป็นสิริมงคล กับประชาชน ซึ่งจะนำออกจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้
ที่วัดบางคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร นางสมร เทิดธรรมพิบูล รักษาการกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ประกอบพิธีจุดเทียนชัย เพื่อทำการปลุกเสกแสตมป์ชุดหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ซึ่งมีบริษัท ไปรษณีย์ไทย ได้จัดสร้างขึ้นมา โดยภายในแสตมป์ มีพระรูปหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พิมพ์นิยม ปั๊มเป็นรูปนูนองค์พระ และเคลือบวานิช นอกจากนั้น ยังใส่หมึกที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สีฟ้าที่ภาพยันต์บนพื้นแบ็คกราวด์ ของภาพแสตมป์ เมื่อส่องด้วยแสง ยูวี แล้วจึงจะปรากฏให้เห็นภาพยันอย่างชัดเจน โดยกำหนดจำหน่ายในราคาดวงละ 9 บาท ใน 1 แผ่นมีตราไปรษณีย์ จำนวน 20 ดวง โดยมีการพิมพ์เพียง 1 ล้านดวง เท่านั้น
สำหรับ หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ เป็นหนึ่งในพระเกจิชื่อดังของเมืองไทย และเป็นที่นิยมในวงการพระเครื่อง โดยพระบางรุ่น มีราคาหลักหลายสิบล้านบาท โดยหลวงพ่อเงินเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน การที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย มาทำการปลุกเสก ภายในพระอุโบสถวัดบางคลาน ก็เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล โดยจะออกจัดจำหน่ายในวันแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2558 นี้ที่ไปรษณีย์ทุกสาขาทั่วประเทศไทย
วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558
เทศกาลงานงิ้วพิจิตร
ชาวตลาดเทศบาลเมืองพิจิตรร่วมกันจัดงานงิ้วประจำปี 10 วัน 10 คืน มีการแสดง เอ็งกอพะบู๊ จากเยาวชนจังหวัดพิจิตร
ชาวตลาดเทศบาลเมืองพิจิตร ร่วมจัดเทศกาลงานงิ้วฤดูหนาว ประจำปี 2558 คณะกรรมการการจัดงาน ได้อัญเชิญเจ้าพ่อปุนเท่ากง เจ้าพ่อหลวงกง ที่ชาวตลาดเทศบาลเมืองพิจิตรและชาวไทยเชื้อสายจีนเลื่อมใสกราบไหว้เคารพบูชา ซึ่งได้อัญเชิญมาจากศาลเจ้าริมแม่น้ำน่าน นำมาประทับที่ศาลเจ้าชั่วคราวใจกลางถนนเมืองพิจิตร
ปีนี้คณะผู้จัดงาน ได้จัดประดับโคมไฟอย่างสวยงาม ยามค่ำคืนจะมีการแสดง แสงสี พลุและการแสดงเอ็งกอพะบู๊ จากเยาวชนในจังหวัดพิจิตร เอ็งกอพะบู๊ มีประวัติกล่าวว่า เป็นผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน จำนวน 108 คน ที่โจรคุณธรรมปล้นคนโกงชาติโกงแผ่นดินเอารัดเอาเปรียบประชาชน ได้ทรัพย์สินมาก็แบ่งให้คนยากจน เมื่อเวลาออกทำการโจรทั้ง 108 คน มีการเขียนลวดลาย พรางหน้าตา เสมือนการสวมหน้ากากแต่งหน้าอำพรางตนปกปิดหน้าตาและทำให้ดูน่าเกรงขาม พร้อมมีอาวุธเป็นไม้ ทั้งร่ายรำตามจังหวะกลอง ด้วยลีลาผาดโผน เพื่อให้ประชาชนที่มาเที่ยวชมงานได้รับชมโดยเฉพาะเด็กๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
สำหรับงานนี้จัด 10 วัน 10 คืน ในระหว่างวันที่ 1- 10 ธันวาคม 2558 ถือเป็นงานประเพณีประจำปี ให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาเจ้าพ่อปุนเท่ากงและเจ้าพ่อหลวงกง เพื่อขอพรความเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิตให้เจริญรุ่งเรืองค้าขายร่ำรวย และยังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดพิจิตรช่วงฤดูหนาวอีกด้วย
นอกจากกิจกรรมการแสดง ภายในงานยังมีการจำหน่ายอาหารหลากหลายประเภท เมนูอร่อยที่ขึ้นชื่อได้แก่ หมูสะเต๊ะ หอยทอด อาหารทะเล
จังหวัดพิจิตร ไถ่ชีวิตโคกระบือ ถวายเป็นพระราชกุศล
ประชาชนชาวจังหวัดพิจิตร ร่วมใจไถ่ชีวิตโค-กระบือ จำนวน 15 ตัว จากโรงฆ่าสัตว์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2558 โดยกระบือทั้งหมด ได้มอบให้ประชาชนนำไปเลี้ยงประกอบอาชีพและอนุรักษ์ไว้
วันที่ 1 ธันวาคม 2558 ที่วัดท่าหลวง พระอารามหลวง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร คณะสงฆ์วัดท่าหลวงพระอารามหลวง และประชาชนชาวพิจิตร ร่วมกันบริจาคเงินไถ่ชีวิตกระบือ จำนวน 11 ตัว โค จำนวน 4 ตัว รวม ทั้งหมด 15 ตัว โดยโคและกระบือดังกล่าว ประชาชนได้ร่วมกันไถ่ชีวิตออกมาจากโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลเมืองพิจิตร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558
วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
วัดราชช้างขวัญ ผุดไอเดียทำลิฟต์ ลอยกระทง
แม่น้ำน่านที่ลดระดับลงอย่างมาก ทำให้เป็นอุปสรรคในการลอยกระทง ทางวัดราชช้างขวัญ ผุดไอเดีย นำวัสดุก่อสร้างทำลิฟต์ให้กระทง แห่งเดียวของประเทศไทย อำนวยความสะดวก แก่ผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็ก ได้ลอยกระทงบนฝั่ง เพื่อป้องกันอันตรายจากการลงไปลอยริมตลิ่ง
พระคุณเจ้า เจ้าอาวาสวัดราชช้างขวัญ กล่าวว่า สภาพแม่น้ำน่านที่ลดลง ทางวัดและคณะกรรมการ จึงเห็นว่าการลอยกระทง ค่อนข้างลำบาก จึงได้แนวคิดทำลิฟต์เพื่อนำกระทงลอยในน้ำ โดยไม้ต้องเดินลงไปริมตลิ่งใกล้แม่น้ำน่านที่ลดลง ซึ่งเกรงจะเกิดอันตราย แก่ผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็ก จึงได้นำอุปกรณ์จากชาวบ้านและ ทางวัดมาทำการประดิษฐ์ลิฟต์ ซึ่งถือว่าเป็นแห่งเดียวของประเทศที่ใช้ลิฟต์ลอยกระทง
วัดท่าบัวทอง นำรถรางดึงเด็กร่วมลอยกระทง
วัดท่าบัวทองนำรถรางบริการกลางสระน้ำจำลอง เพื่อดึงเยาวชนร่วมประเพณีลอยกระทงสนุกสนานแบบเด็กๆ และได้ร่วมสืบสานประเพณีไทย
ที่บริเวณสระน้ำจำลองที่ขุดขึ้นภายในวัดท่าบัวทอง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร เพื่อใช้สำหรับลอยกระทงเนื่องจากปัญหาภัยแล้งจนน้ำในแม่น้ำยมไม่เพียงพอในการจัดงานลอยกระทง คณะกรรมการจัดงานได้นำรถราง ซึ่งเป็นรถรางสำหรับเด็กมาติดตั้งบริเวณกลางสระน้ำเพื่อบริการสำหรับเด็กที่จะมาร่วมงานในประเพณีลอยกระทงที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 และ 26 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเป็นสิ่งดึงดูดใจเด็กๆให้มาร่วมงาน และเป็นสีสันต์ของประเพณีลอยกระทงแบบงานวัดในพื้นที่ชนบทที่จะมีเครื่องเล่น หรือการละเล่นมาจัดในงานเพื่อความสนุกสนาน เป็นโอกาสที่เด็กจะได้ร่วมสนุกสนานแบบเด็กๆ และได้ร่วมสืบสานประเพณีไทยในการลอยกระทง
สำหรับการนำรถรางซึ่งเป็นเครื่องเล่นเด็กมาให้บริการในงานประเพณีเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากเด็กๆโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทซึ่งไม่มีสวนสนุกให้ได้เล่น เด็กส่วนใหญ่จึงไม่มีโอกาสได้เล่นเครื่องเล่นเหมือนกับเด็กในกรุงเทพมหานครหรือเมืองใหญ่ การได้เล่นเครื่องเล่นในการจัดงานวัด จึงได้รับความนิยมจากเด็กๆที่มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมาได้มีการทดลองเปิดให้บริการรถรางซึ่งก็ได้รับความสนใจจากเด็กที่มาเล่นรถรางเป็นจำนวนมาก
วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
แม่น้ำยมตอนกลางแห้งจนเห็นหาดทราย
แม่น้ำยมตอนกลาง บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอโพธิ์ประทับช้าง แห้งจนเห็นหาดทรายทั้งที่ยังอยู่ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน
สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตร แม่น้ำยมบริเวณหลังศาลสมเด็จพระเจ้าเสือ หน้าที่ว่าการอำเภอโพธิ์ประทับช้าง แม่น้ำยมลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แม่น้ำยมแห้งขอดจนเห็นผืนทราย เหลือน้ำเพียงบริเวณที่เป็นบ่อลึกเพียงเล็กน้อย ทั้งที่บริเวณดังกล่าวเคยมีน้ำปริมาณมากและมีการจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานต่อเนื่อง ปริมาณฝนที่น้อยกว่าทุก
สำหรับพื้นที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง เป็นพื้นที่ตอนกลางของแม่น้ำยมที่จะรับน้ำจากอำเภอสามง่าม จะไหลเข้าสู่พื้นที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง และไหลลงสู่ตอนใต้ในพื้นที่อำเภอบึงนารางและอำเภอโพทะเล จากแม่น้ำยมที่แห้งลงอย่างรวดเร็วแม้จะเพิ่งอยู่ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ส่งผลกระทบทั้งการทำการเกษตร การอุปโภค ของประชาชนทั้งสองฝั่งน้ำที่ส่อเค้าว่าจะรุนแรงกว่าทุกปี
จังหวัดพิจิตรตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจภัยแล้ง
จังหวัดพิจิตร รับมือภัยแล้ง ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขวิกฤตภัยแล้ง จัดรอบเวรสถานีสูบน้ำแม่น้ำน่าน พร้อมทั้งเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 8 มาตรการ
นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษฎี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้ประชุมจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ระดับจังหวัดปี 2558/59 ซึ่งมีหน่วยงานราชการ นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ชลประทาน เกษตรจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมทั้งวิเคราะห์ ประเมินปัญหาภัยแล้ง รวมถึงเร่งรัดแนวทางการช่วยเหลือ เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำหลัง และคลองสาขา ได้มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการเฉพาะกิจได้กำหนดแนวทางการใช้น้ำอย่างประหยัด โดยได้ทำการจัดรอบเวรการสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำน่าน ทั้งหมด 35 แห่ง งดสูบน้ำและจัดรอบเวรการสูบน้ำ ซึ่งกำหนดวันคู่และวันคี่ ในการสูบน้ำจากแม่น้ำน่านช่วยเหลือเกษตรกรและรณรงค์ให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมทั้ง ดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนของทางรัฐบาล
ล่าสุดทางคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ระดับจังหวัดปี 2558/59 เสนอโครงการ ในการแก้ปัญหาภัยแล้งของการสมัครเกษตรกรทั้งในด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ รวม 34,995 ครัวเรือน วงเงินจัดสรร 90 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการอนุมัติโครงการ จากทางรัฐบาล
"ซอไม้ไผ่" อเมซิ่ง สิ่งประดิษฐ์บรรเลงดนตรี
ลุงนักประดิษฐ์ สร้างเครื่องดนตรี โดยการประดิษฐ์ ลองผิดลองถูก มาลงตัวที่ไม่ไผ่ มาทำซอไม้ไผ่ สร้างเสียงดนตรีบรรเลง ที่ไพเราะ ในงานพิธีต่าง ๆ
เสียงซอ ดนตรีที่บรรเลงเพลงไทยเดิมพร้อมกับการให้จังหวะของเครื่องเสียงจาก ลุงทวี จันทร์แจ้ง ชาวบ้านตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ที่เล่นบรรเลงขับกล่อมให้ผู้ฟังตามงานพิธีต่างๆ ซึ่งซอ ของลุงทวี แตกต่างจากซออื่นที่พบเห็นทั่วไปเพราะเป็นซอแบบตั้งพื้น ซึ่งประดิษฐ์มาจากกระบอกไม้ไผ่ ที่ชาวบ้านปลูกไว้ เพื่อนำไม้มาใช้ประโยชน์หลากหลายประเภท ถูกดัดแปลงมาเป็นเครื่องดนตรี ที่สร้างเสียงบรรเลงอย่างไพเราะ
ลุงทวี จันทร์แจ้ง เล่าว่า "ตนเองเป็นคนชอบเสียงดนตรี โดยเฉพาะเสียงซอ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสียงไพเราะ จากนั้น จึงได้ลองประดิษฐ์ซอขึ้นเองโดยการลองผิดลองถูก นำทั้งไม้สักและไม้ชนิดต่างๆมาลองทำ จึงมาลงตัวที่ไม้ไผ่ หาได้จากบริเวณบ้านมาทำเป็นซอไม้ไผ่แบบตั้งพื้น โดยจะใช้กระบอกไม้ไผ่ มาทำโครงสร้างและนำสายกีต้าร์มาเป็นสาย สร้างเสียงในการโยกคันสีของซอ ผ่านการกดบังคับนิ้วเสียงเหมือนเปียโน สร้างระดับเสียงดนตรีประกอบกับการเข้าจังหวะกลอง ผ่านระบบเครื่องเสียงที่ทำการติดตั้งระหว่างการบรรเลงในงานพิธี ซึ่งราคาต้นทุนในการผลิตถือว่าถูกมาก ไม่ถึง 1 พันบาท"
สำรับการบรรเลงในแต่ละครั้ง จะเป็นที่แปลกตาจากชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านจะไม่เคยเห็นซอที่ทำจากไม้ไผ่ที่ให้เสียงไพเราะ การบรรเลงในแต่ละงานหากมีใครจ้างจะอยู่ที่ 1,500 บาท ต่องาน แล้วแต่ระยะทาง ใกล้ ไกล ซึ่งจะมีผู้จ้างมาตลอดทุกวัน สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว
วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ขบวนรถอีต๊อกแห่ กฐินสามัคคี
บรรยากาศประเพณีทอดกฐินเต็มไปด้วยสีสัน ที่จังหวัดพิจิตรจัดขบวนแห่องค์กฐินด้วยรถอีต๊อก สร้างบรรยากาศแบบพื้นบ้านวิถีชีวิตเกษตรกรรมและเพิ่มสีสันของงานประเพณี
หลังจากออกพรรษามีประเพณีสำคัญของชาวพุทธนั่นคือประเพณีทอดกฐิน เนื่องจากแต่ละวัดหนึ่งปี จะทอดกฐินได้ครั้งเดียว ตามพุทธบัญญัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยที่จังหวัดพิจิตร ขบวนรถอีต๊อก หรือ รถอีโก้งซึ่งชาวพิจิตรเรียกชื่อรถเครื่องมือทางการเกษตรที่ประชาชนในหมู่บ้านนำรถอีต๊อก จำนวน 15 คัน นำมาแห่องค์กฐิน ซึ่งธนาคารออมสิน ภาค 6 ที่ประกอบด้วยธนาคารออมสินทุกสาขาในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท พิจิตร ลพบุรี และจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเจ้าภาพ นำมาทอด ณ วัดย่านยาว หมู่ที่ 8 ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
โดยชาวบ้าน ได้ทำการตกแต่งรถอีต๊อกด้วยสีสันที่สดใส บรรเลงดนตรีด้วยกลองยาวจากผู้สูงอายุในพื้นบ้าน นางรำ และคณะผู้บริหารจากธนาคารออมสินสาขาต่างๆที่ร่วมในขบวนแห่ไปรอบหมู่บ้าน ซึ่งก็สร้างความเป็นกันเองสำหรับชาวบ้านที่นำรถอีต๊อกมารับและสร้างความตื่นเต้นให้กับคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน ที่บางคนเพิ่งขึ้นรถอีแต๊กเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งทำการแห่องค์กฐินรอบพระอุโบสถ จำนวน 3 รอบ ก่อนทำพิธีทอดกฐิน การทอดกฐินในครั้งนี้มียอดรวมรายได้ที่ถวายวัดจำนวน 1,160,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนหกหมื่นบาท)
นางนิตยา มัชฌิมา ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ภาค 6 กล่าวว่า การทอดกฐินของธนาคารมีประจำทุกปี โดยจะเวียนไปตามจังหวัดต่างๆในพื้นที่ 6 จังหวัด ที่ภาค 6 ครอบคลุมอยู่ วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของธนาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และตอบแทนการไว้ใจของประชาชนกับการบริการของธนาคาร การทอดกฐินในแต่ละปีเราจะนำกฐินไปทอดกับวัดในพื้นที่ชนบทที่ขาดแคลน เพื่อนำรายได้จากการทอดกฐินไปใช้ในการทำนุบำรุงพระศาสนา เนื่องจากวัดในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่จะประสบปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์ในการสร้าง หรือซ่อมแซมถาวรวัตถุต่างๆ พร้อมกันนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดี เนื่องจากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของธนาคารแต่ละสาขาจะได้มาพบปะและทำบุญร่วมกันทำให้มีโอกาสเจอะเจอกันและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันอีกด้วย
พระครูพิธูรธรรมสถิต เจ้าอาวาสวัดย่านยาว กล่าวว่า บุญกฐินถือว่าเป็นบุญใหญ่ แต่ละวัดจะทอดได้ครั้งเดียว ตามพุทธบัญญัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีหลักธรรมแฝงในการทอดกฐินในคือความหมายของธงกฐิน ซึ่งมี 4 แบบ คือ รูปจระเข้ หมายถึง ความโลภ ธงรูปตะขาบ หมายถึง ความโกรธ ธงรูปนางมัจฉา หมายถึง ความหลง และธงรูปเต่า หมายถึง สติ ส่วนรายได้ที่ได้จากการทอดกฐินของคณะศรัทธาที่นำมาทอดถือว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะกับวัดในพื้นที่ชนบทที่จะนำไปใช้ในการสร้างถาวรวัตถุที่สำคัญในวัด รายได้ครั้งนี้จะนำไปสบทบทุนในการก่อสร้างศาลาธรรมสังเวช เพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะต่อไป
สำหรับรถอีต๊อก หรือ รถอีโก้ง ที่ชาวพิจิตรเรียกนั้น เป็นเครื่องมือการเกษตรที่มีความสำคัญเนื่องจากใช้ในการทำนาทำสวน และมีการปรับเปลี่ยนเป็นพาหนะในการสัญจรโดยมีการนำกระบะพ่วงท้าย เพื่อใช้ในการเดินทาง รวมไปถึงบรรทุกสิ่งของต่างๆ ผลผลิตทางการเกษตร การนำรถอีต๊อก หรือรถอีโก้งมาตกแต่งเป็นขบวนแห่องค์กฐิน จึงเป็นการสร้างสีสันแบบพื้นบ้านเป็นการสร้างความประทับใจทั้งประชาชนในพื้นที่และเจ้าภาพที่เดินทางมาร่วมทอดกฐินในครั้งนี้
ภัยแล้ง ชาวนาต้องซ่อมบ่อบาดาลเพื่อใช้น้ำใต้ดิน
สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตรยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่อง
ชาวนาในพื้นที่ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ลงทุนซ่อมบ่อบาดาลที่ทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี เพื่อใช้ในการสูบน้ำเลี้ยงต้นข้าวที่ปลูกไว้บนพื้นที่ 10 ไร่ ซึ่งกำลังออกรวง และเป็นช่วงที่ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่แล้งจัดยาวนาน ฝนทิ้งช่วงชลประทานหยุดจ่ายน้ำ ทำให้ชาวนาขาดน้ำในการเลี้ยงต้นข้าว ต้องลงทุนซ่อมบ่อบาดาลที่ไม่ใช้งานมากว่า 10 ปีเพื่อใช้สูบน้ำอีกครั้ง
สำหรับพื้นที่จังหวัดพิจิตร ขณะนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าจะอยู่ในช่วงย่างเข้าสู่ฤดูหนาว แต่จากฝนที่ทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ปริมาณฝนน้อยกว่าทุกปี
แม่น้ำยมแห้งจนเห็นแก่งกลางแม่น้ำ
แม่น้ำยมส่อเค้าวิกฤติลดระดับลงต่อเนื่องจนเห็นเกาะแก่งกลางแม่น้ำทั้งที่เพิ่งย่างเข้าเดือนพฤศจิกายน
สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิจิตรส่อเค้าวิกฤติ แม่น้ำยมที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดพิจิตรลดระดับต่อเนื่อง พื้นที่ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม ระดับน้ำแม่น้ำยมที่ลดลงต่อเนื่องทำให้มองเห็นเกาะแก่งกลางแม่น้ำยม แนวสันหิน ทราย แม่น้ำยมบางจุดน้ำไหลคล้ายกับลำธาร ทั้งที่อยู่ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งทุกปีจะเป็นช่วงฤดูน้ำหลากที่แม่น้ำยมจะมีปริมาณมาก แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงต่อเนื่อง ฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำยมลดลงอย่างรวดเร็วจนใกล้แห้งขอด
สำหรับแม่น้ำยมที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดพิจิตร ไหลผ่านพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอสามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และอำเภอโพทะเล ความยาว 127 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำขนาดเล็กที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี และจากระดับน้ำแม่น้ำยมที่ลดระดับลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดเกาะแก่งกลางแม่น้ำยม ทั้งที่ยังไม่ถึงฤดูแล้ง ส่อเค้าว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงในปีนี้
วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
อดีตพนักงานรถไฟ สวนกระแส ขายก๋วยเตี๋ยว ชามละ 10 บาท
อดีตพนักงานรถไฟลาออกจากงานสวนกระแสเศรษฐกิจเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือชามละ 10 บาท พร้อมจัดโปรโมชั่น รับประทาน 10 ชาม ฟรี 1 ชาม รับประทาน 30 ชาม ฟรี น้ำอัดลม 1 ลิตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน เกษตรกร และเยาวชนที่มีรายได้น้อย
ที่บ้านหัวดง ตำบลหัวดง อำเภอเมืองพิจิตร นายธนบูรณ์ ชูดอก อายุ 58 ปี อดีตพนักงานการรถไฟไทย ได้ลาออกจากการเป็นเจ้าหน้าที่รถไฟ เปิดกิจการขาย"ก๋วยเตี๋ยวเรือชาละวัน"บริเวณหน้าบ้านพักอาศัย โดยได้สวนกระแสในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว จำหน่ายก๋วยเตี๋ยวเรือให้กับลูกค้าในราคาชามละ 10 บาท
โดยทางร้านได้ถูกออกแบบเป็นเพิงร้านค้ามีโต๊ะไว้รองรับประชาชนที่เข้ามารับประทานก๋วยเตี๋ยว จำนวนกว่า 10 โต๊ะ ซึ่งทางร้านจำหน่ายในราคาแบบธรรมดา ชามละ 10 บาท ส่วนแบบพิเศษจะขายในราคา 20 บาท ซึ่งส่วนผสมของก๋วยเตี๋ยวเรือราคา 10 บาท จะประกอบไปด้วย เส้นก๋วยเตี๋ยว ผัก เนื้อหมูหมัก จำนวน 2 ชิ้น ตับ 1 ชิ้น และลูกชิ้น จำนวน 1 ลูก มีทั้งแบบน้ำตกและแบบแห้ง เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกรับประทาน พร้อมจัดโปรโมชั่น รับประทาน 10 ชาม ฟรี 1 ชาม รับประทาน 30 ชาม ฟรี น้ำอัดลม 1 ลิตร ซึ่งจะมีลูกค้าเข้ามารับประทาน ถึงวันละ 200- 300 ชาม ต่อ 1 วัน
นายธนบูรณ์ ชูดอก เจ้าของร้าน กล่าวว่า หลังจากที่ตนเองได้ลาออกมาจากการเป็นพนักงานรถไฟ จึง ได้เปิดร้ายก๋วยเตี๋ยวเรือ ได้ระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งในตอนแรกจะขายชามละ 25-30 บาท แต่ช่วงที่เศรษฐกิจ ชะลอตัวจึงสวนกระแสขายชามละ 10 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน หากเด็กๆที่ขอเงินจากผู้ปกครองมา 10 บาท ก็ยังสามารถรับประทานได้ รายได้จาการขายก็จะพออยู่ได้ ลูกค้าส่วนใหญ่จะทานได้ เต็มที่ 4 -5 ชาม
นางอัพวรรณ น้ำดอกไม้ ลูกค้าที่มาอุดหนุนประจำ บอกว่า มีรสชาติที่อร่อยและราคาถูก สมกับปริมาณก๋วยเตี๋ยว ที่ทางร้านค้าให้ ซึ่งส่วนใหญ่ จะมากินได้ 3-4 ชามเท่านั้น
สำหรับ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือชาละวัน จะเปิดให้บริการตั้งแต่ 08.00- 17.00 น. ของทุกวัน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ 3-4 คน คอยให้บริการ ในช่วงวันหยุดจะมีประชาชนและเยาวชนเข้ามารับประทานกันจำนวนมาก
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)