รายการถ่ายทอดสด



เทปบันทึกรายการ : ผ่านทาง YouTube

ข่าวเด่น ในรอบ 7 วัน

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วังทรายพูน ลงแขกเกี่ยวข้าว



        กลุ่มเกษตรกรชาวนาอำเภอวังทรายพูน จังหวดพิจิตร  จัดงานประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว สืบสานวิถีชีวิตแบบดั่งเดิมของชาวนาไทย และบูชาพระแม่โพสพ เพื่อให้วิถีชาวนาหมดทุกข์หมดโศกที่ต้องผจญทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง โกงข้าว

ที่บริเวณแปลงนาสาธิต ตำบลหนองปล้อง อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ได้มีการจัดงานประเพณี “ลงแขกเกี่ยวข้าว เกี้ยวสาววังทรายพูน” ครั้งที่ 22 ประจำปี 2556 โดยมีนายมงคล สุกใส ปลัดจังหวัดพิจิตร เป็นประธานประกอบพิธีขอขมาและบูชาพระแม่โพสพก่อนลงมือเก็บเกี่ยวข้าว และยังขอให้ชาวนาได้หมดทุกข์  หมดโศก จากโรคภัยต่างๆไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม และถูกโกงข้าว   และยังมีการประกวดข้าวพันธุ์หอมมะลิ เพื่อคัดเอาเกษตรกรที่ ใส่ใจในการปลูก และการทำนาจนได้ผลผลิตสูงเป็นเกษตรกร ตัวอย่าง

       โดยประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวนาไทย  คือการ “เอาแรง”  หรือขึ้นแรงไว้ช่วยเหลือในการทำนาปลูกข้าวซึ่งกันและกันในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการไถพรวนดิน การหว่านเมล็ดพันธุ์ลงในแปลงนาไปจนถึงการลงมือเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือเรียกว่า “การลงแขกเกี่ยวข้าว” ซึ่งเป็นประเพณีวิถีชีวิตของเกษตรกรชาวนา ตั่งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ความรัก ความสามัคคี ของคนในหมู่บ้านให้เกิดขึ้นรวมทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการทำนาได้อีกด้วย

       สำหรับการเก็บเกี่ยวข้าวในอดีต เกษตรกรชาวนาจะใช้ “เคียว” เป็นอุปกรณ์สำหรับเกี่ยวข้าว แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและทันสมัย ทำให้เกษตรกรชาวนาหันมาใช้เครื่องจักรกล รถเกี่ยวข้าวแทน “เคียว” เป็นอุปกรณ์ สำหรับการเก็บเกี่ยวทำให้การใช้ “เคียว” เกี่ยวข้าวในปัจจุบัน  กำลังจะเลือนหายไปจากสังคมเกษตรกรกรรม กลุ่มเกษตรกรชาวนา  อำเภอวังทรายพูน จึงสืบสานและอนุรักษ์ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามดังกล่าวไว้ให้กับยุวชนคน รุ่นใหม่ได้สืบทอดรักษาไว้





วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จิตอาสา สามเณร คณะครู นักเรียน ประดิษฐ์กระทง 2,000 อัน ทำบุญถวายวัด


         สามเณร คณะครู นักศึกษาและประชาชน ร่วมนำวัสดุธรรมชาติ ประดิษฐ์ทำกระทงจำนวน 2,000 อัน ถวายให้กับทางวัดจำหน่าย ทำบุญในงานประเพณีลอยกระทง 



          สามเณร ประชาชน คณะครู และนักศึกษา จิตอาสา วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร จำนวนกว่า 150 คน  ร่วมสละเวลา พร้อมนำอุปกรณ์การทำกระทงซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติ เช่น หยวกกล้วย ใบตอง และดอกไม้ ทำการประดิษฐ์กระทงจากวัสดุธรรมชาติ จำนวน 2,000 อัน นำถวายให้กับคณะสงฆ์วัดท่าหลวง พระอารามหลวง จังหวัดพิจิตร เพื่อนำกระทงออกจำหน่ายให้กับประชาชนนำไปลอยกระทงบริเวณริมน้ำน่านหน้าวัดท่าหลวงพระอารามหลวง ราคากระทงละ 20 บาท ซึ่งถูกกว่าท้องตลาดที่วางจำหน่าย ในราคา 30-40 บาท


          สำหรับการทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ ที่เหล่าจิตอาสานำถวายให้วัด ถือว่าเป็นการทำบุญหารายได้อีกทางหนึ่ง  ในการทำนุบำรุงศาสนาให้กับทางวัดในเทศกาลลอยกระทง ซึ่งหากจำหน่ายกระทงหมด 2,000 อันทางวัดจะมีรายได้กว่า 4 หมื่นบาท



วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ยุบเขื่อนยาง เนื่องจาก “ไม่มีน้ำหน้าเขื่อน”



ชลประทานพิจิตร ต้องยุบเขื่อนยางหลังระดับน้ำเหนือเขื่อนยาง ในแม่น้ำยมแห้งขอด
 เหตุชาวนาต้องสูบไปทำนา ไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่

    สถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดพิจิตรยังคงขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ชลประทานพิจิตรจำเป็นต้องยุบตัวเขื่อนยาง ที่บริเวณเขื่อนยาง ในตำบลจระเข้ผอม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ที่เคยพองลมเพื่อกักเก็บน้ำหลังจากแม่น้ำยมตอนบนตั้งแต่อำเภอสามง่าม ที่มีเขตรอยต่อกับอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก แม่น้ำยมแห้งขอดจนเห็นผืนทราย ทำให้ไม่มีน้ำต้นทุนในการกักเก็บ เหตุชาวนาสูบน้ำขึ้นไปหล่อเลี้ยงต้นข้าว การหยุดปล่อยน้ำลงมาช่วยเหลือลุ่มแม่น้ำยมเนื่องจากน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ และไม่มีฝนตกลงมาในช่วงนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านตั้งความหวังว่าเขื่อนยางที่สร้างขึ้นด้วยงบประมาณเกือบ 300 ล้านบาท จะสามารถช่วยเหลือแหละเป็นตัวแก้ปัญหาในเรื่องภัยแล้งได้ดี แทนการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แต่ก็ปรากฏว่า ระดับน้ำที่หน้าเขื่อนยาวกลับลดลงจนแห้งขอดไม่มีน้ำหน้าเขื่อนจนต้องยุบตัวเขื่อนยางในที่สุด


    สำหรับพื้นที่แม่น้ำยมตลอดระยะทาง 127 กิโลเมตร ที่ไหลผ่าน 4 อำเภอของจังหวัดพิจิตร คือ สามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และ อำเภอโพทะเล ขณะนี้ได้รับผลกระทบหนักโดยเฉพาะในพื้น 2 อำเภอตอนบน คือ สามง่าม และโพธิ์ประทับช้าง แม่น้ำแห้งขอดจนเห็นท้องแม่น้ำตลอดทั้งสาย ส่งผลกระทบกับการทำการ เกษตรของชาวนาและน้ำต้นทุนในการอุปโภค


วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

เรื่องน่ารู้ “ยกธงประกาศเลิกสงกรานต์อย่างเป็นทางการ”


         ชาวบ้านในจังหวัดพิจิตร จัดพิธีแปลกหนึ่งเดียวที่แทบจะเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย  จัดงาน “ยกธงประกาศเลิกสงกรานต์อย่างเป็นทางการ” เริ่มต้นการทำมาหากินแบบปกติอีกครั้งพร้อมประกาศให้ประเพณียกธงเป็นประเพณีประจำจังหวัด



       ชาวบ้านในจังหวัดพิจิตร ก็จัดงานที่สืบทอดกันมายาวนาน แทบจะเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ขึ้น โดยมีชื่องานว่า งานประเพณี ยกธงเลิกสงกรานต์   เป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษที่ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้ โดยความร่วมมือกันของผู้คนในตำบลนั้นๆซึ่งจะประกอบด้วยหลายๆหมู่บ้าน เมื่อการยกธงเลิกสงกรานต์  มีขึ้นก็หมายถึงวันสงกรานต์ที่หมู่บ้านนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว และชาวบ้านก็จะเริ่มทำไร่ทำนากันต่อไปตามแบบวิถีชาวบ้าน



       โดยชาวบ้านจะนำคันธงหรือเสาธงและธงที่แต่ละหมู่บ้านเตรียมเอาไว้แห่มาที่วัดหนองโสน  อำเภอสามง่าม  พร้อมทั้งแห่ธงรอบพระอุโบสถ  3  รอบก่อนจะนำไปปักลงหลุมที่เตรียมขุดเอาไว้ การแห่ธงของแต่ละหมู่บ้านนั้นก็จะมีเครื่องเป่าและรำวงกันอย่างสนุกสนาน ในตอนที่จะนำธงไปปักลงหลุมนั้นบางทีก็จะมีการแกล้งกันเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายนำธงไปปักได้ง่ายๆ แกล้งกันพอหอมปากหอมคอ โดยชาวบ้านพยามแกล้งไม่ให้เจ้าของธง ปักธงได้ง่ายบางปีถึงกับเสาธงหรือไม้ไผ่หัก โดยองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโสน ได้จัดทำธงหลวง ที่มีความยาว เกือบ 100 เมตร โดยภายในธงแต่ละธงทั้งของชาวบ้านและของ อบต. จะมีการ นำเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ติดไว้ที่ธง ซึ่งเครื่องใช้เช่น สบู่ ยาสีฟัน  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะถวายพระ เพื่อใช้ในกิจวัตรประจำวันของสงต่อไป ส่วนผ้าม่าน ผ้าแพร เสื่อ นวม และผ้าชนิดต่างๆ ที่ นำมาทำเป็นธงนั้น ก็จะถวายวัด เพื่อใช้ในงานพิธีต่างในพระพุทธศาสนาต่อไป